โค้งสุดท้าย ก่อนตัดสินใจเลือกลงคะแนน “ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” จึงอยากนำเสนอนโยบายที่ไม่ควร “หลุด” โฟกัสจากสังคมอย่างประเด็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก ผู้หญิง และครอบครัว ที่มี 8 พรรคการเมืองร่วมแลกเปลี่ยน ผ่านหัวข้อ “นโยบายพรรคการเมืองกับความหวัง การแก้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก ผู้หญิง และครอบครัว” จัดโดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว สมาคมเพศวิถีศึกษา มูลนิธิธีรนาถกาญจนอักษร และสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี

กับคำถาม…หากได้เป็นรัฐบาล งานที่แต่ละพรรคการเมืองจะทำในช่วง 100 วันแรก เพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก ผู้หญิง และคนในครอบครัวคืออะไร?

ณัฐวุฒิ บัวประทุม จากพรรคก้าวไกล มองไม่จำเป็นต้องรอถึง 100 วัน เพราะพรรคสามารถเริ่มทำได้ทันที 4 ประการหลัก คือ 1.หลักสูตร Gender Equality for Politician ที่ใช้อบรมผู้สมัคร หากได้เป็นรัฐบาลก็จะนำหลักสูตรนี้อบรมผู้ปฏิบัติงานรัฐมนตรีต่อ  2.ผลักดันการตั้งกรรมาธิการว่าด้วยความเสมอภาคทางเพศ และกรรมาธิการชุดนี้จะเป็นตัวต่อรอง ตรวจสอบ ถ่วงดุล เพิ่มเติมงานที่กรรมาธิการกิจการเด็ก และเยาวชน สตรี หรือกรรมาธิการสวัสดิการสังคมทำอยู่ แต่ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิผล

3.แก้ไขกฎหมาย 2 เรื่อง คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 (2) ที่ว่าด้วยการลงโทษของผู้ปกครอง ผู้ปกครองต้องไม่เริ่มจากการลงโทษบุตรด้วยความรุนแรง และไม่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ และการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับหมวดเรื่องเพศทั้งหมด และ 4.กลไกที่จะมารองรับต้องเป็นกลไกที่เป็นมิตรในทุกระดับ ซึ่งจะทำทันทีและจะใช้กลไกนี้แก้ปัญหาทั้งระบบ

กรกนก คำตา จากพรรคสามัญชน ระบุว่า สิ่งที่จะทำหากได้เป็นส่วนหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล คือ ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องซักซ้อมความเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติ เพื่อให้คำนึงถึงผู้ถูกกระทำในทุกมิติ และให้ผู้ที่ถูกกระทำสามารถเข้าถึงความยุติธรรม และการเยียวยาได้

ทั้งนี้ การซักซ้อมความเข้าใจจะต้องมีการออกแบบพิมพ์เขียว เริ่มตั้งแต่ระบบการรับเรื่อง ชั้นตำรวจ โรงพยาบาล ไปจนถึงนักสหวิชาชีพ ต้องมีการประสานงานกับองค์กร และกระบวนการของรัฐต้องพร้อม ไม่ตกเป็นงานของภาคประชาสังคมที่ต้องเข้ามาช่วยสนับสนุน เมื่อเกิดเหตุการณ์ประชาชนสามารถเข้าถึงการดูแลจากภาครัฐได้เลย และต้องรู้สึกปลอดภัยที่เข้าไปแจ้งความ ไม่มีการปกป้องผู้กระทำผิด

โดย 100 วันแรกจะเพิ่มหลักสูตรให้ข้าราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าใจว่าต้องทำอย่างไรกับคดีความรุนแรง

ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ จากพรรคไทยสร้างไทย ระบุ พรรคมีหัวหน้าเป็นผู้หญิง ฉะนั้นนโยบายเกี่ยวข้องกับผู้หญิง ครอบครัว เด็ก เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ 100 วันแรกพรรคจะเริ่มที่การตั้งศูนย์ผู้หญิง และเด็ก “Woman and Child Care Center” ซึ่งเป็นสิ่งที่หัวหน้าพรรค คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ดำเนินการมาตั้งแต่ครั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เพื่อช่วยคนที่อยู่แต่ละอำเภอ และอยากขยายให้มีทุกอำเภอในประเทศไทยทั้ง 878 อำเภอ เพราะหากมีศูนย์ตั้งอยู่ทุกอำเภอ ความช่วยเหลือจะเข้าถึงผู้ที่ถูกกระทำ หรือเหยื่อได้ทันท่วงที

อัยรดา บำรุงรักษ์ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึง 100 วันแรกว่าจะส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน เพราะต้องยอมรับ
ความเป็นจริงว่าบางครั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือคนที่อยู่รอบข้างอาจไปไม่ถึง และการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

รัชดา ธนาดิเรก จากพรรคประชาธิปัตย์ ย้ำพรรคให้ความสำคัญการแก้ไขปัญหาในครอบครัว ในฐานะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่ผ่านมา เสนอให้พิจารณาแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นวาระแห่งชาติ แต่เรื่องนี้ไม่ผ่านในชั้นรัฐมนตรี แต่หากได้กลับมาเป็นแกนนำรัฐบาล เรื่องนี้ต้องถูกขับเคลื่อนให้เป็นวาระแห่งชาติให้ได้

สำหรับทิศทางขับเคลื่อนเรื่องนี้ จะผลักดันให้มีศูนย์การป้องกันการกระทำความรุนแรงในระดับตำบล และทัศนคติของคนในสังคม โดย 100 วันแรกจะเข้าไปจัดระบบ และประเมินหลักสูตรเรื่องเพศศึกษา โดยรัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้กับศูนย์พึ่งพิงเยียวยา เพื่อดูแลให้ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงลุกขึ้นได้อย่างมั่นคง และมั่นใจ

อนุสรี ทับสุวรรณ จากพรรคภูมิใจไทย มองว่าผู้ถูกกระทำความรุนแรง เป็นผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งพื้นฐานคือ ต้องได้รับความปลอดภัย และศักดิ์ศรี เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องคุ้มครองอำนวยความสะดวกให้กับคนทุกเพศทุกวัย โดย 100 วันแรกต้องเป็นวาระแห่งชาติ และต้องปรับปรุงกฎหมายคือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวฯ, พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุ้มครองสถาบันครอบครัวฯ และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ โดยเฉพาะมาตรา 15 ยึดเรื่องการไกล่เกลี่ย และการเป็นสถาบันครอบครัวโดยไม่ได้คำนึงถึงคนที่เป็นเหยื่อ

นฤมล รัตนาภิบาล จากพรรคพลังประชารัฐ ระบุ ปัญหาดังกล่าวต้องมองหาเจ้าภาพ ที่เป็นหน่วยงานในการป้องกันการใช้ความรุนแรง ดังนั้น 100 วันแรก รัฐต้องมีการหารือ ตั้งหน่วยงาน คือสำนักงานสุขภาพจิต และป้องกันการใช้ความรุนแรง เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงในเด็ก สตรี พร้อมจัดสรรงบประมาณสนับสนุน

ชานันท์ ยอดหงษ์ จากพรรคเพื่อไทย เสนอ 100 วันแรก จะรื้อฟื้นศูนย์ช่วยเหลือสังคม ตั้งแต่ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นศูนย์ที่รับเรื่องราว พัฒนาระบบออนไลน์ สายด่วน 1300 และประสานไปยังสหวิชาชีพทุกกลุ่มเร่งด่วน และพัฒนาระบบบ้านพักฉุกเฉิน เพื่อให้ทุกคนสามารถ “รอด” จากความไม่ปลอดภัยในครอบครัว

ขณะเดียวกันในเชิงโครงสร้างจะพัฒนากองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เพื่อให้ผู้หญิงไม่อยู่ในภาวะพึ่งพิงผู้ชาย สามารถให้สตรีรวมกลุ่มกัน ปกป้องซึ่งกันและกัน และสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้.