โดยเฉพาะห้วงที่หลายฝ่ายเป็นกังวลคือ หลังปิดหีบเพื่อนับคะแนน ซึ่งปีนี้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่มีรายงานผลการนับคะแนนแบบเรียลไทม์ แต่ใช้ระบบ ECT Report หรือ การรายงานผลคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ

น.ส.พรชนิตว์ ถึงแสง นักศึกษาสาขาวิชานิเทศศาสตร์ดิจิทัล คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย มองสองมุม กรณีไม่มีรายงานผลนับคะแนนแบบเรียลไทม์ อย่างแรกคือการเน้นความถูกต้อง แต่อีกด้านอาจทำให้ประชาชนรู้สึกไม่บริสุทธิ์ใจกับผลคะแนน อย่างไรก็ตาม การจับตาเลือกตั้งเพื่อความโปร่งใส ในช่วงหาเสียง ส่วนตัวเห็นควรตรวจสอบผู้สมัครและพรรคการเมืองเรื่องการให้เงินหรือทรัพย์สิน และประชาชนควรเลือกโดยดูจากนโยบายเพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้ดีขึ้นเป็นหลัก

ส่วนช่วงการนับคะแนน หากเป็นไปได้ควรร่วมอยู่สังเกตการณ์หลังปิดหีบเลือกตั้ง เพื่อสอดส่องขั้นตอนนับคะแนนว่า เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยขาน และขีดคะแนนตรงตามจริงหรือไม่ พร้อมย้ำว่า เชื่อมั่นในการช่วยกันตรวจสอบของภาคประชาชน เพื่อปกป้องทุกคะแนนเสียงให้ถูกนับอย่างถูกต้อง

“ประชาชนอาจต้องมีภารกิจมากกว่าการเข้าคูหาไปออกเสียง เพราะคิดว่าเลือกตั้งจะโปร่งใสได้ ก็ต่อเมื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม หากช่วยกันลงไปสังเกตการณ์ อาจจะไม่มีกรณีที่นับต่างกัน จนต้องโต้แย้ง หรือการไม่วางใจ หากประชาชนออกมากันมาก ๆ ส่วนตัวคิดว่าผู้รับผิดชอบคงจะทำทุกอย่างให้ถูกต้องโปร่งใสไปเอง”

นายดุลยวัต ศรีสุพรรณ นักศึกษาสาขาวิชาการสื่อสารดิจิทัลคอนเทนต์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ชี้ว่ายิ่งไม่มีรายงานผลคะแนนแบบเรียลไทม์ ยิ่งต้องออกมาช่วยกันเฝ้าระวังการนับคะแนน เพราะหากไม่มีคนสังเกตการณ์ อาจเป็นช่องโหว่ให้เกิดความผิดปกติ ทำให้สิทธิและเสียงที่ใช้ไปไร้ความหมาย

ส่วนการจะช่วยจับตาความโปร่งใส อย่างแรกคงต้องไปศึกษาความรู้เรื่องกฎกติกาการเลือกตั้งให้ชัดเจน เพื่อจะได้เข้าใจระบบการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเฉพาะช่วงการนับคะแนน หากพบเห็นความผิดปกติ จะได้ตัดสินใจแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยได้เลยทันที

“เชื่อว่าไม่มีใครอยากเห็นการทุจริตเลือกตั้ง ดังนั้น คงต้องมาช่วยกันเฝ้าสังเกตการณ์ เพราะทุกเสียงของพวกเรามันมีค่าเท่ากันครับ”

นายพรวศิน พูลสวัสดิ์ นักศึกษาสาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี แนะช่วยกันเฝ้าจับตาเลือกตั้งเพื่อความโปร่งใส โดยช่วงหาเสียง อาจดูได้จากการที่สมาชิกของพรรคการเมือง มีการเข้าไปคลุกคลีในกลุ่มใดเป็นพิเศษหรือไม่ หากเห็นว่าผิดปกติก็อาจบันทึกภาพ หรือคลิปไว้เป็นหลักฐานได้ ส่วนช่วงนับคะแนน ทุกคนสามารถช่วยกันติดตามรอการนับคะแนนหลังปิดหีบเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งที่ตัวเองไปใช้สิทธิ

ขณะที่พลังสังเกตการณ์นับคะแนนของประชาชนและอาสาสมัคร ตนทั้งเชื่อและไม่เชื่อว่าจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน เพราะขึ้นอยู่กับแต่ละคน

“ส่วนตัวผมทั้งเชื่อและไม่เชื่อ บางที่อาจโกง บางที่อาจจะไม่โกง มันขึ้นอยู่กับดุลพินิจแต่ละคน แต่เราก็ต้องจับตาดูหรือช่วยกันเป็นหูเป็นตา เพื่อให้การเลือกตั้งออกมายุติธรรมที่สุดตามหลักประชาธิปไตย”

นายรัตนพล คิดไร นักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ในฐานะประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดมหาสารคาม มองการกำหนดบทบาทในการสังเกตการณ์ว่าจะสามารถมั่นใจถึงความโปร่งใสต่อกระบวนการและความยุติธรรมของผลคะแนนเลือกตั้งที่จะออกมาว่า ผลคะแนนนั้นเกิดจากเสียงของประชาชนจริง ๆ ไม่ได้มีการทุจริต

“ประชาชนไม่สามารถทราบคะแนนแบบเรียลไทม์ได้ กว่าคะแนนจะมีการประกาศ จะมีช่องว่างของเวลาที่อาจทำให้มีการทุจริตของคะแนนเกิดขึ้น”

ทั้งนี้ ย้ำว่าบทบาทของผู้สังเกตการณ์สำคัญมาก ที่จะทำให้ประชาชนมั่นใจว่า เป็นผลคะแนนที่เกิดจากเจตนารมณ์และความต้องการแท้จริง ไม่ใช่จากกลุ่มคนใดคนหนึ่ง เพื่อเป็นการให้ดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่ ส.ส. ควรเป็นผู้แทนที่มาจากเสียงประชาชน

“ผมเชื่อพลังนี้ จะขับเคลื่อนได้มาก เพียงแต่ผู้ที่สังเกตการณ์ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสิน ทำได้เพียงช่วยกันสังเกต”.