นกหว้า ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น พญาระกา หรือเจ้าไก่ป่าแห่งเมืองใต้  เป็นนกที่มีรูปร่างสวยงามและตัวขนาดใหญ่คล้าย ๆ กับนกยูงไทยและถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มไก่ฟ้า บริเวณหัวและคอไม่มีขน มีแต่หนังสีฟ้าเข้ม มีจุกเล็กน้อยบนหัว แข้งลงไปถึงตีนมีสีแดง มีขนสีน้ำตาลด้านบนหลัง ลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลแดง นกหว้าตัวผู้ขนลำตัวด้านบนมีจุดสีเนื้ออย่างละเอียดกระจายไปทั่ว ขนกลางปีกยาวมีลายเป็นวงกลมใหญ่สีเนื้อคล้ายดวงตา มีขนหางคู่นกหว้าบางตัวมีหางยาวมากกว่า 130 ซม. นกหว้าตัวเมียมีขนกลางปีกและขนหางจะไม่ยาวเหมือนตัวผู้ เสียงร้องของนกหว้าตัวผู้จะก้องดังไปทั่วป่าในช่วงที่เตรียมจะจับคู่ผสมพันธุ์

พฤติกรรมของนกหว้า ชอบเดินตามพื้นดินและเดินคุ้ยเขี่ย หากินผลไม้ที่ร่วงตกจากต้นลงมาที่พื้น เขี่ยหาไส้เดือน มด ปลวกหรือแมลงอื่น ๆ เป็นอาหาร และกระจายพันธุ์หากินอยู่ตามป่าดิบชื้นทางภาคใต้ ยังไม่มีรายงานว่าพบนกหว้าอาศัยอยู่ตามป่าธรรมชาติทางภาคอื่น ๆ ผู้คนที่นิยมเดินป่าศึกษาธรรมชาติบริเวณป่าทางภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นป่าอุทยานแห่งชาติทะเลบัน จังหวัดสตูล อุทยานแห่งชาติเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราชและอุทยานแห่งชาติศรีพังงา จังหวัดพังงา มักจะได้ยินเสียงนกหว้าร้องดังกังวานไปทั่วป่า แต่ก็ยากที่จะได้เห็นตัวจริง เนื่องจากเป็นนกที่ขี้อาย เดินได้เงียบเชียบ และปราดเปรียวมาก มักจะหนีไปก่อนล่วงหน้าก่อนที่เราจะเข้าใกล้ จึงพบเห็นนกหว้ากันได้ไม่ง่ายนัก และถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มนกหายากของประเทศไทยอีกชนิดหนึ่ง

การจับคู่ผสมพันธุ์ของนกหว้า เริ่มตั้งแต่ช่วงกุมภาพันธ์-มิถุนายนของทุกปี นกหว้าตัวผู้จะเลือกพื้นที่ราบบริเวณสันเขา เป็นสถานที่สร้างลานกว้างและโล่งเตียน เพื่อรอให้นกหว้าตัวเมียมาร่วมผสมพันธุ์และนกตัวผู้จะทำหน้าที่กวาดลาน พร้อมทั้งส่งเสียงเรียกตัวเมียให้มาหาตรงลานที่สร้างไว้ ระหว่างที่รอตัวเมียตัวผู้จะเดินมาที่ลานตั้งแต่เช้ามืดของทุกวัน พร้อมทั้งส่งเสียงร้องเรียกตัวเมีย จนกว่าตัวเมียจะเดินมาที่ลาน หลังจากนั้นนกหว้าตัวผู้จะกางปีกเต้นรำหรือรำแพนโชว์ วิ่งวนไปรอบ ๆ    ตัวเมียที่เข้ามากลางลานที่เตรียมไว้ จนกว่านกตัวเมียจะพอใจยินยอมพร้อมที่จะร่วมผสมพันธุ์ด้วย

ภัยที่กำลังคุกคามและเป็นภัยอันตรายถึงขั้นที่จะทำให้นกหว้าสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยนั้น นอกจากจะถูกล่านำไปเป็นอาหารและส่งขายให้กับผู้ที่นิยมเลี้ยงนกชนิดหายากแล้ว และนกหว้าเดินไปติดแร้วดักสัตว์ของพรานล่าสัตว์แล้ว ผืนป่าธรรมชาติที่เป็นถิ่นอาศัยของนกหว้าอย่างเหมาะสมเปลี่ยนสภาพและลดน้อยลงมาก อาจจะทำให้นกหว้าสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยได้ในไม่ช้า.

บุญเลิศ ชายเกตุ