ร้านขาย “ขนมไทย” เป็นอาชีพอิสระที่ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับเจ้าของได้เป็นอย่างดีมาตลอด ซึ่งขนมไทยนั้นมีอยู่มากมายหลากหลายชนิดที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ที่สำคัญเจ้าของผู้ที่ทำนั้นจำเป็นต้องมีความพิถีพิถัน เลือกใช้วัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพ ใส่ใจในรสชาติ ก็จะไม่ยากที่จะทำให้ขนมที่ทำขายนั้นได้รับความนิยมจากลูกค้า อย่าง “วัชรพล นพทิพย์” และ “อรพรรณ จันทร์มี” ที่เปิดร้านขายขนมไทย มีขนมไทยหลายอย่าง อาทิ ขนมตาล, ขนมใส่ไส้กรวย, ขนมกล้วย, ขนมฟักทอง, ขนมมันม่วง และ ขนมต้มตาล โดยเน้นเรื่องคุณภาพ รสชาติ ความสดใหม่ ทำให้ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี ซึ่งวันนี้ทีมงาน “ช่องทางทำกิน” จึงนำข้อมูลมานำเสนอไว้เป็นกรณีศึกษา

วัชรพล นพทิพย์ และ อรพรรณ จันทร์มี เปิดร้านขายขนมไทยอยู่ที่ เกาะเกร็ด โดยใช้ชื่อร้านว่า ขนมหวานขนมตาลยายฉิม(เกาะเกร็ด) เล่าว่า…เคยทำงานเป็นพนักงานขายจิวเวลรี่ของแบรนด์ ๆ หนึ่ง ซึ่งหลังจากที่ทำงานตรงนี้อยู่ได้ประมาณ 3 ปี ก็รู้สึกเบื่องานประจำที่ทำอยู่ จึงตัดสินใจลาออกมาอยู่บ้านที่เกาะเกร็ด และเริ่มมองหาอาชีพใหม่ทำ จนมีอยู่วันหนึ่งพี่สาวออกไปทำงานเห็นลูกตาลหล่นอยู่จึงเก็บมาฝาก ด้วยความที่มีความชอบในกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ตั้งแต่วัยเด็ก และชื่นชอบขนมตาลอยู่แล้วจึงลองหัดทำขนมตาลกับพี่สาว โดยไปสอบถามวิธีการทำจากคนเก่าแก่ ตั้งแต่ขั้นตอนการยีตาล จนถึงการผสมแป้ง ลองผิดลองถูกจนในที่สุดก็สามารถทำขนมตาลออกมาได้อย่างที่ต้องการ ก็นำไปให้ทุกคนในครอบครัวชิม ซึ่งทุกคนลงความเห็นว่าอร่อยใช้ได้ จึงเกิดความคิดที่อยากจะลองขายหารายได้เสริม เพราะมองว่าช่วงนั้นในตลาดเกาะเกร็ดยังไม่มีใครขายขนมตาล จึงตัดสินใจทำไปขายที่ตลาดเกาะเกร็ด ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากลูกค้าดีมาก จึงยึดทำขนมตาลขายเป็นอาชีพเสริมรายได้มาเรื่อย ๆ และยังพยายามพัฒนาปรับปรุงสูตรให้ตรงต่อความต้องการของลูกค้าอยู่ตลอด รวมทั้งทำขนมชนิดอื่น ๆ ออกมาขายเพิ่มเติมด้วย

’ขนมของที่ร้านทุกชนิดจะเน้นใช้วัตถุดิบที่ดี มีคุณภาพ และความสะอาดปลอดภัยเป็นสำคัญ อย่างขนมตาลวัตถุดิบทุกอย่างทำขึ้นเอง ไม่ว่าจะเป็นการคั้นกะทิ ยีลูกตาล ไม่มีการแต่งสี แต่งกลิ่น ไม่ใส่สารกันบูด และจะใช้เนื้อตาลในปริมาณมาก เพื่อทำให้ขนมมีความนุ่มละมุน ไม่ฝืด ไม่เฝื่อนลิ้น ขนมจะไม่แข็งกระด้าง ที่สำคัญทำสดใหม่ทุกวัน โดยจะนึ่งสด ๆ ใหม่ ๆ หน้าร้านให้ลูกค้าเห็นและได้กลิ่นหอมของขนม ทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าได้ขนมตาลที่สดใหม่“ เจ้าของร้านบอกถึงจุดเด่นของขนมต่าง ๆ ของที่ร้านที่ทำให้ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

ทุนเบื้องต้น ในการทำขนมตาลใช้เงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 4,000 บาทขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นค่าวัตถุดิบและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำทุนวัตถุดิบ อยู่ที่ประมาณ 70% จากราคา ซึ่งราคาขายขนมตาลอยู่ที่ 35 บาท 3 ชุด 100 บาท จากนั้นก็ทำขนมไทยประเภทอื่น ๆ มาขายเพิ่มเติมอีก ไม่ว่าจะเป็น ขนมใส่ไส้กรวย, ขนมกล้วย, ขนมฟักทอง, ขนมมันม่วง, ทับทิมกรอบ และขนมต้มตาล

อุปกรณ์ ในการทำหลัก ๆ ก็มี เตาแก๊ส, ลังถึงสำหรับนึ่งขนม, กะละมังสเตนเลส, ถ้วยตะไล, ผ้าขาวบาง, กระชอน, ทัพพี และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ดอื่น ๆ วัตถุดิบ หลัก ๆ ประกอบด้วย…เนื้อตาลสุกยี, นํ้าตาล, แป้ง ข้าวเจ้า, นํ้ากะทิ, ไข่, มะพร้าวทึนทึกขูด

ขั้นตอนการทำ…ขนมตาล

เริ่มจากนำลูกตาลแก่มาปอกเปลือกออกและนำไปล้างให้สะอาด ทำการควักตาตาลออกให้ดี เพราะจะทำให้ขนมขมเฝื่อน เมื่อเสร็จแล้วนำลูกตาลแก่ใส่กะละมังใส่นํ้าเปล่าจนท่วมตาล และใส่เกลือลงไป จากนั้นก็ทำการยี ด้วยวิธีการขูดผ่านตะแกรง ให้เนื้อตาลลอดผ่านตะแกรง เสร็จแล้วก็นำไปกรองผ่านผ้าขาวบาง หรือกระชอนตาถี่ เพื่อนำเอาเศษขนตาลออก เมื่อกรองเสร็จเทใส่ถุงผ้าขาวบางนำไปห้อยทิ้งไว้ประมาณ 4-7 ชั่วโมง

เมื่อได้เนื้อตาลที่สำเร็จแล้ว นํ้ามาผสมแป้งข้าวเจ้า กะทิ นํ้าตาลในอัตราส่วน 1:1 จากนั้นทำการนวดขนมให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกันเสร็จแล้วหมักแป้งทิ้งไว้ข้ามคืน ก็นำมานึ่งได้ การนึ่งขนมตาลนั้นก็ให้ทำการตั้งนํ้าให้เดือด เรียงถ้วยตะไลไว้ในลังถึงเตรียมไว้เมื่อนํ้าเดือด หยอดขนมที่นวดไว้ข้ามคืนลงในถ้วยตะไล นำขึ้นตั้งไฟ เมื่อครบ 20-30 นาที นำขึ้นจากเตา ใช้ไม้พายแคะขนมตาลออกจากถ้วยตะไล นำมะพร้าวทึนทึกที่ขูดมานึ่ง 15 นาทีคลุกเกลือเล็กน้อย เพื่อให้มีความเค็ม มัน นำมาโรยใส่ขนมตาลที่นึ่งเสร็จแล้ว เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำพร้อมขายได้ทันที

สำหรับผู้ที่สนใจ “ขนมตาล” รวมทั้งขนมต่าง ๆ อาทิ ขนมใส่ไส้กรวย, ขนมกล้วย, ขนมฟักทอง, ขนมมันม่วง, ทับทิมกรอบ และขนมต้มตาล ของ วัชรพล และ อรพรรณ สามารถแวะไปชิมกันได้ที่เกาะเกร็ด ชื่อ ร้านขนมตาลสีเขียว หรือเข้าไปติดตามสั่งซื้อได้ทาง เฟซบุ๊ก : ขนมตาลยายฉิม (เกาะเกร็ด) หรือทาง Robinhood / lineman / ชื่อร้าน ขนมหวานขนมตาลยายฉิม(เกาะเกร็ด) หรือโทรศัพท์ไปได้ที่ โทร. 09-9145-4087 แนน (เจ้าของร้าน ขนมตาลยายฉิม (เกาะเกร็ด).

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน