เผยโฉมออกมาแล้วสำหรับแม่ทัพพรรคก้าวไกลคนใหม่ และว่าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร  นั่นคือ“ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมขยับปรับเปลี่ยนหลายตำแหน่งในพรรคลุยทำงานฝ่ายค้านเชิงรุก ที่สำคัญยังมีการแต่งตั้ง ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ เป็นโฆษกพรรคก้าวไกล คนใหม่ วันนี้คอลัมน์ตรวจการบ้านจึงต้องมาสนทนากับโฆษกฯป้ายแดงของพรรคก้าวไกล ว่า จากนี้พรรคจะมีแนวทางการทำงานทางการเมืองอย่างไรต่อไป

ยุทธศาสตร์การทำงานของพรรคก้าวไกลจะเดินต่อไปอย่างไร

ผมคิดว่าวันนี้ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าพรรคก้าวไกลอยู่ในสถานะของพรรคฝ่ายค้าน สิ่งที่เราได้ประกาศไว้ คือ ว่าเราเป็นฝ่ายค้านที่ไม่ได้จ้องล้มรัฐบาล แต่เป็นฝ่ายค้านที่พยายามจะเตรียมความพร้อมในการเป็นรัฐบาลครั้งถัดไป ถ้าจะใช้ภาษาอังกฤษและสรุปให้เห็นภาพผมคิดว่าไม่ได้เป็น destructive opposition คือ ไม่ได้ตั้งเป้าในการจะล้มรัฐบาล แต่เป็น constructive opposition คือ คอยตรวจสอบการบริหารของรัฐบาลในเรื่องที่เราคิดว่าเป็นนโยบายที่ยังไม่ตอบโจทย์และไม่โปร่งใส ก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องตรวจสอบ เสนอแนะ และทักท้วง คือ ไม่ได้เป็นฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่เป็นเงาที่ตามไล่บี้รัฐบาล หรือวิจารณ์สิ่งที่รัฐบาลทำอย่างเดียว แต่พยายามจะเป็นฝ่ายค้านที่เป็นแสงในการนำทางหรือยื่นขอเสนอแนะให้กับรัฐบาล

ถ้าพูดให้เห็นเป็นรูปธรรม ผมคิดว่าจะมี 5 ส่วนหลัก ๆ  ที่เราจะใช้เป็นพื้นที่การทำงาน คือ 1. พื้นที่สภา แบ่งเป็นการเสนอกฎหมายและการทำงานในกรรมาธิการ 2. พื้นที่วิชาการพื้นที่นโยบาย โดยแบ่งทีม สส.ทั้งหมดออกเป็น 15 ทีม เชิงประเด็น เช่น การศึกษา พัฒนาเศรษฐกิจ สาธารณสุข เกษตร เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นต้น เพื่อติดตามนโยบายรัฐบาลและเตรียมการเลือกตั้งทั่วไป ไปจนถึงการเตรียมความพร้อมในการเป็นรัฐบาล

3. คือพื้นที่ของ สส.เขต เรามี สส.เขตทั้งหมดกว่า 110 คน เราอยากพิสูจน์ให้เห็นว่า สส.เขตของพรรคก้าวไกลสามารถทำงานควบคู่กันระหว่างการเป็นตัวแทนของประชาชน เป็นปากเสียงให้กับประชาชนในพื้นที่กับการขับเคลื่อนประเด็นในเชิงนโยบายในระดับประเทศด้วย 4.พื้นที่ท้องถิ่น พรรคก้าวไกลประกาศไปว่าเราจะส่งผู้สมัครในการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับ และ 5.พื้นที่พรรคการเมือง เรามีเป้าว่า ต้องการขยายฐานสมาชิก ปัจจุบันอยู่ที่ 7 หมื่นคน ให้ถึง 1 แสนคนภายในปีนี้

@ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลถูกดิสเครดิตในหลายเรื่องจะแก้ไขและสู้เกมเรื่องนี้อย่างไร

ผมคิดว่าเราน้อมรับทุกคำติชม ท้ายที่สุดแล้วผมคิดว่ามีอยู่ 2 ประเด็น คือ 1. ในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองเราต้องเปิดกว้างสำหรับทุกคำติชมอยู่แล้ว เราทำงานบนฐานความไว้วางใจที่ได้รับมาจากประชาชน การขับเคลื่อนหลายอย่างก็อาศัยงบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชน ผมคิดว่าในมุมนั้นเรามีความรับผิดชอบที่จะต้องเปิดตัวเองให้กว้างต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ต่อการตรวจสอบให้ได้มากที่สุด 2.คิดว่าคำวิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นแรงผลักดันสำคัญในการที่จะยกระดับการทำงานของเราเช่นกัน ทำให้เห็นว่าอะไรที่เราทำไปแล้วตอบโจทย์หรือยังไม่ตอบโจทย์ ดังนั้นคิดว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่พรรคมองว่าเป็นปัญหา แต่จะเป็นฟีดแบ๊กที่เรารับมาและปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น สิ่งที่เราไม่อยากให้เกิด คือเจอคำวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเดิมซ้ำๆ นั่นแสดงว่าเราได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์มาแล้ว ยังไม่สามารถปรับหรือแก้ไขตามความคาดหวังของประชาชนได้

@การนำของหัวหน้าพรรคคนใหม่จะสร้างกระแสหรือความนิยมของพรรคได้เท่ากับหัวหน้าพรรคคนเดิมหรือไม่

ผมเชื่อว่าคุณภาพการทำงานของพรรคก้าวไกลยังคงเป็นไปตามมาตรฐานเดิม และหวังว่าจะเป็นการยกระดับมาตรฐานขึ้นด้วย อย่างแรกต้องชี้แจงก่อนว่า การปรับทัพในรอบนี้เป็นการปรับทัพชั่วคราว ซึ่งเกิดขึ้นจากเหตุจำเป็นทางกฎหมาย ว่า ในเมื่อพรรคก้าวไกลมาเป็นฝ่ายค้านแล้วเราแสดงความประสงค์ ว่า ต้องการมีสมาชิกไปรับบทบาทผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญในการกุมทิศทางการทำงานของฝ่ายค้านในสภา

ผมคิดว่า จะเป็นการปรับทัพที่ทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างชัดเจนขึ้น ในช่วงชั่วคราวตอนนี้ ถ้ามองภาพก็จะเห็นว่าคุณชัยธวัชก็จะเป็นผู้นำทัพในสภา ส่วนคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ไปทำหน้าที่ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็จะนำทัพนอกสภา และ 5 พื้นที่ ที่ผมได้พูดไป งานในสภาก็จะเป็นของคุณชัยธวัช  งานวิชาการนโยบายหรือแม้กระทั่งการรณรงค์ท้องถิ่นก็จะเป็นของคุณพิธาที่เป็นคนนำทัพ ก็จะทำให้ทั้ง 2 คน ยังเป็นหัวหอกสำคัญของการขับเคลื่อนพรรคก้าวไกล

@ ในเรื่องรัฐธรรมนูญจะผลักดันอย่างไรให้เป็นวาระของสังคม เพราะขณะนี้ดูเหมือนพรรคเพื่อไทยและฝ่ายรัฐบาลยื้อแก้รัฐธรรมนูญ

จุดยืนที่สำคัญของพรรค คือ เราต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถูกร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทั้งนี้ยอมรับว่า เรามีความกังวลว่า รัฐบาลชุดใหม่นี้จะยังคงยืนยันเป้าหมายที่ตรงกับพรรคก้าวไกลหรือไม่ ซึ่งเราได้แสดงจุดยืนไว้ว่า เราไม่เห็นถึงความจำเป็นของการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติเพราะได้ถูกศึกษามาอย่างต่อเนื่องหลายปีตั้งแต่ปี 62-65 ว่า ทุกฝ่ายได้ข้อสรุปร่วมกัน คือ 1.ต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 2.ต้องมีการจัดประชามติเป็นขั้นตอนแรกและคำถามถือจัดทำฉบับใหม่โดยสสร.ที่มาจากการเลือกตั้งประชาชนเห็นด้วยหรือไม่

ดังนั้นผมก็เลยตั้งคำถามถึงความจำเป็นของการมีคณะกรรมการศึกษาฯ ชุดนี้ ซึ่งรายชื่อที่ปรากฏออกมาก็จะเห็นว่า มีหลายคนที่อยู่ในกระบวนการเหล่านี้มาโดยตลอด และกังวลว่าหากใช้เวลานานยิ่งทำให้เรานับหนึ่งได้ช้า

ประเด็น 112 ถือเป็นจุดดับของพรรคก้าวไกลและยังยืนยันเดินหน้าต่อหรือไม่

เรายืนยันว่าตัวกฎหมาย 112 มีปัญหาทั้งในเรื่องของการบังคับใช้และในเรื่องของเนื้อหา ผมคิดว่าที่ผ่านมาเราก็พยายามนำเสนอด้วยเหตุและผลว่าปัญหามีอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น เช่น เรื่องความหนักของโทษ สิทธิในการร้องทุกข์กล่าวโทษที่มันเปิดกว้างให้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบังคับใช้ ที่เราเห็นถึงปัญหา ผมคิดว่าเดินหน้าต่อในการนำเสนอปัญหาอย่างตรงไปตรงมา และยืนยันว่า ส่วนหนึ่งของการแก้ไขก็จำเป็นต้องมีการทบทวนตัวบทกฎหมายมาตรา 112

ดังนั้นพรรคก้าวไกลก็จะใช้เวทีสภาในการยื่นข้อเสนอของเราเข้าสู่กระบวนการพิจารณา เราอยากให้ทุกพรรคมาตระหนักถึงปัญหานี้และยื่นข้อเสนอที่พรรคเขาคิดว่าเหมาะสม เอาข้อเสนอต่างๆ ยื่นเข้ามา และมาถกกันในสภาว่าอะไรจะเป็นทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้และยุติปัญหานี้ได้.