วันสันติภาโลก (World Peace Day) ตรงกับวันที่ 21 กันยายนของทุกปี จัดขึ้นเพื่ออุทิศแก่สันติภาพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปราศจากสงคราม บ้างถือเป็นโอกาสพิเศษกำหนดหยุดยิงชั่วคราวในพื้นที่ที่ยังสู้รบกันอยู่ มีการเฉลิมฉลองวันสันติภาพโลกในบรรดาชาติ กลุ่มการเมือง กลุ่มทางทหาร และประชาชนทั้งหลาย วันสันติภาพโลกจัดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2524
 
ในการเริ่มวันดังกล่าว มีการเคาะ “ระฆังสันติภาพ” ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระฆังนั้นถูกหล่อขึ้นจากเหรียญที่รับบริจาคมาจากเด็กทั่วโลก มันถือเป็นของขวัญโดยสมาคมสหประชาชาติแห่งญี่ปุ่น และถูกกล่าวถึงว่าเป็น “เครื่องเตือนใจมนุษย์ถึงมูลค่าแห่งสงคราม” มีข้อความ “สันติภาพโลกเบ็ดเสร็จจงเจริญ” จารึกอยู่ด้านข้างของระฆัง
 
แต่หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 2001 หรืออีก 20 ปีต่อมา ก็มีมติใหม่จากสหราชอาณาจักร และคอสตาริกา กำหนดให้วันที่ 21 กันยายน ของทุกปี เป็นวันยุติการสู้รบ และประกาศให้เป็นวันสันติภาพโลก หรือวันสันติภาพโลก (The International Day of Peace) เพื่อขอให้ประชาชนทุกประเทศหยุดยิง ลดใช้ความรุนแรงกันทั่วโลก และหยุดการทำสงครามตลอดทั้งวัน รวมทั้งมีการเชิญประเทศสมาชิก หน่วยงานต่าง ๆ มางานเฉลิมฉลองและร่วมมือกันสร้างสันติภาพทั่วโลก และกำหนดให้ ค.ศ. 2001-2010 เป็นทศวรรษสากลเพื่อวัฒนธรรมสันติภาพและความไม่รุนแรงเพื่อเด็กของโลก โดยมีจุดมุ่งหมาย 6 ประการ ดังนี้
 

  1. ให้ความเคารพต่อชีวิตทั้งมวล เคารพชีวิตและศักดิ์ศรีของแต่ละบุคคล โดยไม่แบ่งชนชั้นหรือลำเอียง
  2. ไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะต่อเด็กและเยาวชน
  3. แบ่งปันกับผู้อื่นอย่างมีน้ำใจ เพื่อขจัดการแบ่งแยก ความไม่ยุติธรรม และการกดขี่ทางการเมืองและเศรษฐกิจ
  4. รับฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อกัน เคารพเสรีภาพในการแสดงออก และยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม
  5. สงวนรักษาผืนโลก ฝึกดำเนินชีวิตอย่างรับผิดชอบและเคารพต่อทุกชีวิตในโลก เพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติบนผืนโลก
  6. สร้างความสมานฉันท์ เคารพต่อหลักการประชาธิปไตย และให้โอกาสทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะสตรี

โดยจุดมุ่งหมายทั้ง 6 ประการ มีเป้าหมายให้ผู้คนในสังคมทุกกลุ่มอายุได้ตระหนักถึงความสำคัญของสันติภาพภายใน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของวัฒนธรรมสันติภาพที่เกิดจากความสงบเงียบภายในจิตใจของแต่ละคน เพื่อให้เราได้รู้จักตนเองและแหล่งพลังชีวิตที่สามารถใช้ปัญญาเป็นเครื่องชี้นำทางในการขจัดทุกข์และสร้างสันติสุขให้แก่ตนเอง รวมทั้งแบ่งปันสิ่งดี ๆ ให้กับผู้อื่น
 
คำขวัญวันสันติภาพโลก
นอกจากในวันนี้ของทุกปีจะเป็นวันที่ทุกคนหยุดใช้ความรุนแรง รวมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงความสำคัญแล้วนั้น ทางสหประชาชาติยังได้กำหนดคำขวัญในแต่ละปี เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติอีกด้วย เช่น

ในปี 2007 สหประชาชาติได้มีคำขวัญไว้ว่า “สันติภาพ คือ เป้าหมายสูงสุดของสหประชาชาติ” (Peace is the United Nations’ highest calling)
ในปี 2008 สำนักงานสหประชาชาติ ในติมอร์-เลสเต ได้ตั้งคำขวัญสำหรับวันสันติภาพโลกในติมอร์-เลสเต ว่า “คุณทำอะไรเพื่อสันติภาพหรือเปล่า” (What are you doing for peace ?)
ในปี 2009 สหประชาชาติได้มีคำขวัญไว้ว่า “เราต้องปลดอาวุธเพื่อทำเครื่องหมายสู่การนับถอยหลัง 100 วัน ซึ่งนำไปสู่วันสันติภาพโลกที่ 21 กันยายน” (WMD-We Must Disarm to mark the 100-day countdown which lead to the International Day of Peace on 21 September)
ในปี 2010 สหประชาชาติได้มีคำขวัญไว้ว่า “สันติภาพ = ในอนาคต, คณิตศาสตร์เป็นเรื่องง่าย”(Peace=Future, The math is easy)
ในปี 2011 สหประชาชาติได้มีคำขวัญไว้ว่า “สันติภาพและประชาธิปไตย : ทำให้เสียงของคุณได้ยิน”(Peace and Democracy : make your voice heard)
ในปี 2012 สหประชาชาติได้มีคำขวัญไว้ว่า “สันติภาพที่ยั่งยืน เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” (Peace and Democracy : make your voice heard)
ในปี 2014 สหประชาชาติได้มีคำขวัญไว้ว่า “สิทธิของประชาชนเพื่อสันติภาพ” (Right of Peoples to Peace)
ในปี 2015 สหประชาชาติได้มีคำขวัญไว้ว่า “ความร่วมมือเพื่อสันติภาพและศักดิ์ศรีเพื่อทุกคน” (Partnerships for Peace – Dignity for All)
ในปี 2016 สหประชาชาติได้มีคำขวัญไว้ว่า “The Sustainable Development Goals : Building Blocks for Peace” 
ในปี 2017 สหประชาชาติได้มีคำขวัญไว้ว่า “Together for Peace: Respect, Safety and Dignity for All”
ในปี 2018 สหประชาชาติได้มีคำขวัญไว้ว่า “The Right to Peace – The Universal Declaration of Human Rights at 70
ในปี 2019 สหประชาชาติได้ประกาศธีมรณรงค์ว่า “Climate Action for Peace”
ในปี 2020 สหประชาชาติได้ประกาศธีมรณรงค์ว่า “Shaping Peace Together”

สัญลักษณ์ของสันติภาพ
ภาพของนกพิราบคาบกิ่งมะกอก คงเป็นภาพที่หลายคนเห็นผ่านตากันมาบ้างแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่าภาพนกพิราบคาบกิ่งมะกอกนั้น ถือเป็นสัญลักษณ์สากลของสันติภาพ เนื่องจากชาวตะวันตกเชื่อว่านกพิราบเป็นวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า เป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ตามพระคัมภีร์ไบเบิล และยังเป็นสัญลักษณ์ของนักเรียกร้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งแสดงถึงวิชาชีพสื่อสารมวลชน เพราะนกพิราบมีความสามารถในการจดจำเส้นทางได้อย่างแม่นยำ ผู้คนจึงใช้นกพิราบในการสื่อสาร ส่วนกิ่งมะกอกเป็นสิ่งที่ชาวกรีกโบราณใช้ในพิธีสำคัญ เป็นมงกุฎสวมให้ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งและมอบให้ผู้ชนะในการแข่งกีฬาโอลิมปิกอีกด้วย
 
เมื่อได้รับรู้ถึงความสำคัญของวันสันติภาพโลกกันไปแล้ว ดังนั้น เมื่อถึงวันที่ 21 กันยายน ทุกคนควรตระหนักและหยุดใช้ความรุนแรง หรืออาจเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม โดยใช้เวลาเพียง 1 นาที หยุดนิ่งให้กับความสงบ เพื่อระลึกถึงสันติภาพของโลก รวมทั้งเพื่อให้ตัวเองได้รับรู้ถึงความสงบในจิตใจ รับรู้ความต้องการของตนเอง เพื่อเป็นพลังในการดำเนินชีวิตต่อไป  
 
กิจกรรมในวันสันติภาพโลก
ในวันที่ 21 กันยายน ของทุกปี ยังมีกิจกรรมดี ๆ ที่จัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการหยุดใช้ความรุนแรง โดยมูลนิธิสหพันธ์สันติภาพโลก (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาพิเศษของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้จัดกิจกรรมรณรงค์อ่านสารสันติภาพของผู้นำประเทศและเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และกิจกรรมยืนสงบนิ่งร่วมจิตอธิษฐานเป็นเวลา 1 นาที ในสถานศึกษาทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเป็นการสร้างกระแสให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของสันติภาพ และร่วมมือกันสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และโลก
 
ขอบคุณข้อมูลจาก มูลนิธิสหพันธ์สันติภาพสากล (ประเทศไทย), วิกิพีเดีย