ผู้เฒ่าผู้แก่ไม่ใช่ภาระ.. ทุกคนต่างมีคุณค่าในตัวเองทั้งเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ลูกหลาน และทำประโยชน์ได้มากมายอย่างที่เราคาดไม่ถึงเลยทีเดียว อย่างเช่น “ยายกม” วัย 66 ปี เลี้ยงดูลูกหลานจนเติบใหญ่จนออกไปทำมาหากินได้เอง ส่งเงินกลับมาให้แม่ใช้ทุกเดือนไม่ขาดมือ

แต่ยายกมก็ไม่เคยอยู่เฉย!! ด้วยความที่มีฝีมือในการทำอาหารก็จะคิดเมนูใหม่ๆ มาทำกับข้าวขายคนในหมู่บ้านแบบอร่อยราคาถูก แม้จะกำไรไม่มากแต่ก็สุขใจที่ได้ทำ..

คุณยายพิจิตร หรือ “ยายกม” ศรีแก้ว อายุ 66 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 65 หมู่บ้านสังแก หมู่ 6 ตำบลแตล อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ใช้เวลาว่างทำกับข้าวส่งขายภายในหมู่บ้านพร้อมกับใช้ไอเดียนำ “ปูนา” มาทำน้ำยาขนมจีน พบว่ามีลูกค้าภายในหมู่บ้านแห่สั่งจองล่วงหน้าขายแทบไม่ทัน ต้องทำขายแบบวันเว้นวัน

อาหารของ “ยายกม” แต่ละอย่างชาวบ้านจะชื่นชอบเพราะรสชาติถูกปากและราคาถูกใจ โดยกับข้าวจะมีจำพวกผักแกงและต้มต่างๆ ซึ่งวัตถุดิบโดยเฉพาะผักหาซื้อได้ภายในหมู่บ้านที่ชาวบ้านปลูกเองและมีราคาที่ไม่แพง เช่น ผักชีมัดละ 5 บาท และผักกวางตุ้ง คะน้า มัดละ10 บาท เป็นต้น ซึ่งคนในหมู่บ้านปลูกเองทั้งหมดจะเป็นผักปลอดสารพิษ ถือว่าเป็นการสร้างรายได้หมุนเวียนภายในชุมชนอีกด้วย

“ยายกม” มีลูกทั้งหมด 3 คน ไปทำงานรับจ้างกันหมด โดยแต่ละเดือนลูกๆ จะส่งเงินมาให้ใช้สอยอยู่เป็นประจำ แต่ยายกมก็จะไม่ย่อท้อหรืองอมืองอเท้าอยู่บ้านเฉยๆ พยายามนำเงินที่ลูกเต้าส่งมาให้ไปซื้อวัตถุดิบอาหารและสิ่งของต่างๆ มาขายให้ชาวบ้านในราคาที่ไม่แพง ซึ่งก็ทำอย่างนี้เป็นประจำทุกวัน ไม่เคยบ่นว่าตนเองจะขาดทุนหรือได้กำไร ขอให้ได้ทำก็พอ..

ล่าสุด ยายกม มีไอเดียใหม่ โดยการรับซื้อปูนาที่ชาวบ้านไปขุดมาได้นำมาทำน้ำยาขนมจีนขายให้กับชาวบ้าน ในราคาถูกชุดละ 20 บาท และจานละ 20 บาท ซึ่งชาวบ้านก็มาอุดหนุนทุกวันแทบจะไม่พอขายกันเลยทีเดียว ตลอดจนให้หลานสาวช่วยขี่รถจักรยานยนต์นำไปส่งลูกค้าภายในหมู่บ้านและภายในตำบลของตัวเองอีกด้วย

น.ส.ณิชกานต์ ศรีแก้ว อายุ 22 ปี หลานสาว บอกว่า ตนเองเคยบอกย่าว่าให้อยู่บ้านไม่ต้องทำอะไร ลูกเต้าลูกหลานก็พอมีให้กินให้ใช้ไม่ให้ลำบาก แต่ย่าก็ทำอย่างนี้ทุกวัน ซึ่งตนเองก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ตามใจย่า ซึ่งสิ่งของที่ลงทุนไปนั้นบอกตามตรงได้กำไรก็ไม่กี่บาท ขนมจีนวันละ 5-10 กิโล

พอขายหมดก็คงมีกำไรอยู่ประมาณ 200-300 บาท ซึ่งย่าก็พยายามทำมาตลอด โดยไม่เคยจะบ่นว่าขาดทุนหรือได้กำไร พอตื่นเช้าขึ้นมาก็มานั่งขูดมะพร้าวทำน้ำยาขนมจีนโดยลงมือใช้วัตถุดิบของตนเองที่หามาทั้งหมด ยกเว้นเส้นขนมจีนที่ต้องสั่งมาให้

“ยายกม” บอกว่า “วันๆ ไม่รู้จะทำอะไร เพราะทุกวันข้าวยากหมากแพง ถ้าเราจะมานั่งรอแบมือกับลูกหลานก็ไม่ไหว อายุป่านนี้แล้วทำไปถึงจะไม่มีกำไรแต่ก็ใจมันอยากจะทำ ซึ่งก็มองเห็นเพื่อนบ้านอยากกินโน่นกินนี่ ตนเองก็ทำตามใจชาวบ้านและตอนเย็นมาก็ลงมือทำนำให้หลานไปส่งตามหมู่บ้านพอได้ค่าน้ำค่าไฟและอาหาร ที่เหลือเราก็แบ่งไว้กินโดยที่ไม่จำเป็นต้องไปซื้อที่ตลาดให้สิ้นเปลือง”

“สำหรับน้ำยาปูนานั้น ยายคิดค้นขึ้นมาเอง โดยแต่ก่อนทำแต่น้ำยาป่าและน้ำยาไก่ตลอดจนน้ำยากะทิและนั่งคิดไปก็เลยเกิดไอเดียขึ้นมา เพราะปูนาในช่วงนี้ที่เขาเก็บเกี่ยวข้าวออกไปแล้วปูจะมาทำรูอยู่ตามคันนาจำนวนมาก ซึ่งปูนาในช่วงนี้จะมีมันมากรสชาติอร่อย ชาวบ้านจึงไปขุดปูนามาทำอาหารกินและแบ่งขาย ซึ่งยายก็ได้ลองมาทำดูก็มีผลตอบรับอย่างดี คนชอบกินกันมากจนทำให้ขนมจีนของยายมีคนสั่งจองแทบจะทำไม่ทันและไม่เคยเหลือเลยสักวัน” ยายกม กล่าวทิ้งท้ายอย่างภูมิใจ

คอลัมน์ : นิยายชีวิต โดย : อสงไขย
เรื่องและภาพโดย : นพรัตน์ กิ่งแก้ว จ.สุรินทร์
[[คลิก]] อ่านเรื่องราว “นิยายชีวิต” ได้ที่นี่…