โดย “ผู้กองธรรมนัส”  เปิดประเด็น ว่า เราต้องดูว่าเรื่องร้อนเริ่มจากเราหรือเริ่มจากใคร ถ้าเป็นเรื่องร้อนที่เป็นประเด็น ณ เวลานี้เป็นเรื่องของผู้ใต้บังคับบัญชาถูกรังแก เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายต้องให้นักกฎหมายเข้ามาเป็นที่ปรึกษาเลยมอบหมายให้ผู้บริหารกรมใดก็ตามที่ถูกรังแก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามให้ “ทีมกฎหมาย” เข้าไปช่วย ถ้าถามเราต้องแยกแยะหรือไม่ เรื่องที่ส่อไปในทางทุจริตเรื่องนี้เราก็ต้องสอบ เรื่องที่ถูกร้องเรียนก็ต้องสอบ ซึ่งจะมอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะหัวหน้าตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้แต่ละหน่วยงานชี้แจงและเมื่อชี้แจงแล้วตรวจสอบว่าไม่มีมูลก็ให้ปิดเรื่องไป แต่ถ้าเรื่องไหนมีมูลก็ให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาสอบสวน อันนี้คือหลักการการทำงานของผมทุกวันนี้ แต่ในกรณีที่ว่าตรวจสอบแล้ว “ไม่ผิด” แล้วยังถูกรังแกก็ต้องมีการโต้ตอบกันตามที่มีประเด็นในเรื่องของกรมการข้าวอยู่ในขณะนี้

“เมื่อถามว่าในประเด็นร้อนๆ ในหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินค้าเถื่อน หมูเถื่อน หรืออะไรก็ตาม ถ้าเป็นเรื่องที่ลูกน้องใต้บังคับบัญชาทำภายใต้กฎหมายผมก็ต้องปกป้องเขา เพราะไม่เช่นนั้นขวัญและกำลังใจของเขาก็จะไม่มีในการทำงาน ซึ่งการครองใจลูกน้อง หากเขาทำในสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดิน เราต้องปกป้องเขา เมื่อเขามีภัยมา ถ้าเราไม่ปกป้องเขา แล้วเขาจะไปพึ่งใคร ผมจึงจำเป็นต้องกระโดดเข้ามาให้คำปรึกษาให้การช่วยเหลือ”

@ภาพลักษณ์ของกระทรวงเกษตรฯ ในปัจจุบัน ตั้งแต่สินค้าเถื่อน รวมไปถึงข้าราชการถูกรังแก จะแก้ตรงนี้อย่างไร

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนที่ผมจะเข้ามาเป็นรมว.เกษตรฯ ทุกประเด็นที่เป็นประเด็นร้อนตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงวันนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเก่าๆ ที่เราเข้ามาแล้วต้องเขามาสะสาง ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับพี่น้องเกษตรกร ส่วนเรื่องไหนที่ไม่ได้เป็นประเด็นความเดือดร้อนของเกษตรกร เช่น หมูเถื่อน สินค้าเถื่อน เราก็ต้องแก้ พอแก้แล้วก็เป็นประเด็น เพราะเป็นประเด็นที่ถูกสะสมกันมา 

เราเข้ามาในฐานะที่เราเข้ามาทำความสะอาดบ้านหลังนี้ ซึ่งเป็นบ้านหลังใหม่ของเรา แต่เป็นบ้านหลังเก่าของคนอื่นที่เขาเช่ามาก่อน อยู่อาศัยมาก่อน เราจึงมีหน้าที่ ที่ต้องทำ ไม่มีสิทธิ์ไปบ่นว่าเจ้าของเก่าอยู่ไม่ดูแลบ้านเลย เราคงไม่พูด เพราะเดี๋ยวจะเป็นประเด็น แต่เมื่อเรามาแล้ว เราก็ต้องทำความสะอาด ทำให้บ้านน่าอยู่ มีบ้านหลังใหม่ที่น่าอยู่ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้อยู่อาศัย นั่นคือเกษตรกร

@กระทรวงเกษตรฯ ในยุคของ “ผู้กองธรรมนัส” ภาพลักษณ์ของกระทรวงจะเป็นอย่างไร

ก็อย่างที่เห็น ผมทำงานอย่างเอาจริงเอาจังไม่มีวันหยุด ตั้งแต่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่ง รมว.เกษตรฯ ผมก็ทำงานไม่มีวันหยุด ซึ่งสิ่งที่ผมแก้ปัญหาให้เกษตรกรเห็นเป็นที่ประจักษ์ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาเร่งด่วนให้เกษตรกรเรื่องน้ำ ภัยแล้ง น้ำท่วม ผมจะลงไปแก้ปัญหาให้ทันท่วงที เรื่องที่ดินทำกิน ที่ประกาศว่าจะเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01ให้เป็นโฉนด การยกระดับมาตรฐานราคาสินค้าเพื่อให้เกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

ขณะนี้รายได้พืชผลทั้งพืชสวน พืชไร่ มีราคาสูงขึ้นหมด ยกตัวอย่าง เช่น สวนยางพารา ซึ่งในส่วนของยางแผ่นรมควัน วันนี้ประกาศโลละ 70 กว่าบาท ซึ่งไม่เคยมี 3 กิโล 100 บาท ไม่มีแล้ว น้ำยางดิบ 60 กว่าบาท ซึ่งเป็นผลงานที่ประจักษ์ ข้าว ราคาทั่วไปก็ตกตันละ 1 หมื่นกว่าบาท เห็นชัดเจนว่าสินค้าราคาขึ้น ปาล์มน้ำมัน ณ วันนี้พี่น้องชาวสวนปาล์มก็มีความสุข สินค้าเกษตรที่มีราคาขึ้นทุกอย่าง ผมกำลังจะแถลงผลงานเร็วๆ นี้ ว่าเราทำเอาจริงเอาจัง ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรรวมถึงการเข้าถึงโอกาสไม่ว่าจะเป็นแหล่งทุน กรรมสิทธิ์ที่ดิน ราคาพืชผลการเกษตร แต่สิ่งที่กำลังตกในเวลานี้ คือภาคประมงและภาคปศุสัตว์ ถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทาย ที่กระทรวงเกษตรฯจะต้องทำต่อไป

“ท่านนายกรัฐมนตรี ปรารถนาว่าอยากยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกรให้ดีขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น เป็น 3 เท่า ในช่วงระยะเวลา 4 ปี ซึ่งสิ่งที่ผมได้ทำขึ้นและทำเป็นการต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของยางพารากับปาล์มเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นชัดเจนว่าเราทำจริง เพราะทุกวันนี้สินค้าเกษตรที่เราผลิตภายในประเทศ ถามว่าหากเราไม่ปล่อยสินค้าให้มันทะลักเข้ามา ผมว่าเราสามารถควบคุมราคาได้ แต่เรากลับปล่อยให้ทะลักเข้ามาเหมือนที่ผ่านๆ มา เราก็ต้องแก้ไข”

@จากปัญหาที่เกิดขึ้นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างโยกย้ายข้าราชการในกระทรวงหรือไม่

เนื่องจากผมเข้ามา ในยุคที่เป็นปลายปีโครงสร้างและระบบข้าราชการต่างๆ แทบจะไม่ได้เปลี่ยนเลย เราแทบจะไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้าง แต่เปลี่ยนวิธีการทำงาน ต้องทำงานเชิงรุก แก้ปัญหาให้พี่น้องเกษตรกร ผมมีการประชุมกับผู้บริหารกระทรวงทุกวันพุธเช้า  ผมจะกำกับและดูแลทุกกรมด้วยตัวเอง ทำไมจึงต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำปัญหาก็จะมา หมายความว่ากรมไหนที่ผมมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยกำกับดูแล ผมก็ให้เกียรติท่านอยู่แล้ว แต่ในเรื่องประเด็นใหญ่ๆ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารบุคลากร เรื่องงบประมาณ มันจำเป็นที่ต้องเข้าไปคุมเอง เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเกิดประเด็นอย่างที่เห็นอยู่ ซึ่งการแต่งตั้งโยกย้ายในระดับต่างๆ จึงต้องผ่านผมเพราะทุกอย่างอยู่ในกฎหมายอยู่แล้ว  ซึ่งตรงนี้ไม่ไช่ “มาเฟีย” แต่เป็นเรื่องของการบริหารจัดการที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพราะถ้าเราทำอะไรที่เราไม่ได้คุมเอง หรือเราไม่ได้รักษากฎกติกาตามกฎหมาย มันก็ไม่สามารถที่จะบริหารราชการแผ่นดินได้ ซึ่งผมให้เกียรติผู้ร่วมงานทุกท่าน

@ผู้กองธรรมนัสเก่งในเรื่องการสืบสวนสอบสวนคิดว่าจะสามารถจับตัวคนโกงหรือทุจริตในกระทรวงได้หรือไม่

ในเรื่องของการทุจริต ผมให้ความสำคัญมาก และผมก็มีเครือข่าย ผมเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 25 เป็นนักเรียนนายร้อย จปร.รุ่นที่ 36  ผมมีเพื่อนเป็นทหารทุกเหล่าทัพ ซึ่งก็เป็นระดับผู้นำกองทัพและเหล่าทัพ  ดังนั้นการขอความร่วมมือทั้งด้านการสืบสวนสอบสวน ผมก็มีศาสตราวุธเต็มความพร้อม ดังนั้นการใดที่จะทำอะไรที่ส่อทุจริตหรืออะไรก็ตามที่มารังแกพี่น้องข้าราชการ ผมปล่อยไม่ได้ มันจำเป็นต้องจัดการ เราต้องทำความสะอาดบ้าน อย่าปล่อยให้วิถีของบ้านเมืองไม่อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายเด็ดขาด

@ในอดีตโครงการที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรฯ เช่น โคล้านตัว ผักสวนครัวรั้วกินได้ ปุ๋ย มีรัฐมนตรีหรือเจ้าหน้าที่ไปเกี่ยวข้อง จะป้องกันอย่างไร

อันนี้เป็นเรื่องสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน ที่เราต้องมี “ธรรมาภิบาล” ยอมรับข้อตรวจสอบ ต้องฟังเสียง สะท้อนทางสังคม ซึ่งการบริหาราชการแผ่นดิน ต้องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด หลายโครงการที่จะเข้า ครม.ซึ่งผมจะค้านเสมอ ถ้าเห็นแล้วมันส่อทุจริตและส่อที่จะเป็นช่องทางไปทำมาหากินที่มิชอบ แล้วก่อให้เกิดผลเสียต่อพี่น้องเกษตรกรผมไม่เห็นด้วย ซึ่งโครงการหลายโครงการที่เราถอดบทเรียน จะมาทำซ้ำซากอีก คงไม่ได้ 

ดังนั้นการตั้งงบประมาณปี2568 จะมาตั้งโดยเอากรอบปีเดิมๆ แล้วเอาเงินเข้าไปใส่อย่าทำ ซึ่งมั่นใจภายใน 1 ปีจะเห็นผลเพราะตอนนี้ผ่านมา 4 เดือนก็เห็นผลมาเยอะพอสมควร ซึ่งเรื่องนี้ผมต้องเรียนตรงๆ ว่าจากปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้นมาถ้าหัวไม่กระดิก ข้าราชการไม่กล้า

@กรณีของอธิบดีกรมการข้าวที่โดนนักร้องรังแก ยังมีกรมอื่นๆ อีกหรือไม่ ที่มีวี่แววจะโดนแบบนี้

ส่วนใหญ่จะเป็นกรมที่ผมไม่ได้ควบคุมดูแล เป็นกรมที่ผมมอบอำนาจให้รมช. เช่น กรมฝนหลวงฯ ที่กำลังมีการพูดถึงอยู่และยังมีอีกหลายกรมที่ผมไม่ได้ดูแล ดังนั้นจึงจำเป็นที่ผมต้องเข้าไปดูแล เพราะเป็นเรื่องของงบประมาณและบุคลากร ซึ่งก็ได้บอกกับ รมช.ทั้ง 2 ท่าน ในการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงก็ขอให้ท่านส่งตัวแทนเข้ามา ผมอยากย้ำว่าข้าราชการยังมีอนาคตอีกไกล เขารู้กฎหมาย มีองค์กรอิสระ รวมถึงมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ถ้าข้างบนไม่มีนโยบายเขาก็ไม่ทำ

ดังนั้นสำคัญที่สุดก็คือในเรื่องนโยบายของแต่ละยุคแต่ละสมัย ก็จะสังเกตได้ว่าที่มีปัญหาจะเป็นนโยบายของคนที่เข้ามานั่งบริหาร  กรณีโคบาลภาคใต้ เป็นไปได้อย่างไรเอาไปให้ชาวบ้านเป็นโคของบริษัทเดียวจัดการหมด มันโหดเกินไป ซึ่งผมสั่งให้แก้ไขโดยด่วนไปเปลี่ยนโคของชาวบ้านให้รับไปเปลี่ยน ซึ่งผมเอาจริงเอาจัง  นอกจากนี้มีอีกหลายโครงการฯที่เกิดขึ้น  ซึ่งตนได้ประสานไปยัง รมว.ยุติธรรม  เลขา ศอบต. ให้ตั้งกรรมการสอบสวนแล้วด้วย

ข้อเท็จจริงเรื่องกรมการข้าวผมได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีและที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมาแล้วว่า ว่าตั้งแต่ที่มีคนมาร้องเรียน ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ตั้งแต่ปี 66  ซึ่งปลัดก็ตั้งคณะกรรมการไต่สวนสอบอีกทีก็ได้ข้อสรุปแล้วว่าไม่ผิด ซึ่งเป็นการมาร้องโดยไม่ทำการบ้านมาก่อน ก็เป็นข้อสังเกตว่าเอาข้อมูลมาจากไหน ซึ่งโครงการข้าวต่างๆ ส่วนใหญ่เงินจะถึงชาวบ้านไม่ได้ผ่านกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งในส่วนกรมข้าว  นายกรัฐมนตรีให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วนำเข้า ครม. ซึ่งผมก็จะเอาผลการตรวจสอบ ครั้งแรก และวันที่ 30 ม.ค. ผมก็ได้ตั้งกรรมกาชุดใหม่ สอบ 2 ฝ่าย  คือ ผู้ร้องและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ  ส่วนเรื่องกรมฝนหลวง ก็ร้องว่ามีการล็อคสเปค ทีโออาร์ ก็ให้ปลัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และตั้งกรรมการไต่สวน

@มีความพยายามโยงมาถึงคนใกล้ชิด “ผู้กอง”ด้วย

ใช่ครับ  อันนี้ในการนำเสนอข่าว อย่าไปฟังพวก “หิวแสง”มากเกินไป ชอบสร้างเรื่องราวขึ้นมา โดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะเราให้คนของเราไปช่วยอธิบดีกรมการข้าว ใครที่ไหนจะพาอธิบดีไปเสียเงิน ซึ่งเขาไม่อยากไปเอง ต้องการให้คนเป็นผู้ใหญ่ของรัฐบาลไป ซึ่งมันเป็นคนละเรื่อง วันนี้ต้องเข้าใจว่ากระทรวงเกษตรฯเป็นผู้เสียหาย อย่าเสนอข่าวให้เราเป็นจำเลย  อย่าไปเบี่ยงประเด็นเพราะไปฟัง “นักแฉ” คนนั้นคนนี้พูดที ไม่ถูกต้อง สื่อต้องฟังอธิบดีเพราะเขาคือผู้ถูกกระทำ.