เกาหลีใต้มีอัตราการเกิดของทารกอยู่ที่ 0.7 คน ต่อผู้หญิง 1 คน ส่งผลให้ประเทศมีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก และต่ำกว่าอัตราการเกิดทดแทนอย่างมาก นั่นหมายความว่า ประชากรของเกาหลีใต้กำลังสูงวัย และมีจำนวนลดลง อย่างรวดเร็ว

รัฐบาลโซลทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อส่งเสริมการมีบุตร โดยหนึ่งในความพยายามครั้งล่าสุดคือ การที่เทศบาลกรุงโซล เสนอการมอบเงินสนับสนุนสำหรับแช่แข็งไข่

จอง วัย 40 ปี เป็นหนึ่งในผู้หญิงชาวเกาหลีใต้ ซึ่งตัดสินใจรับข้อเสนอของรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่า เธอรู้สึกกดดันในการมีบุตร และไม่สามารถแต่งงานอย่างรวดเร็วที่สุดได้ เธอจึงหันมาใช้แผนสำรองอย่างการแช่แข็งไข่แทน ซึ่งตอนนี้ จองสามารถใช้ชีวิตโดยไม่รู้สึกกังวลกับการเป็นโสด

แม้ผู้หญิงโสดสามารถแช่แข็งไข่ของพวกเธอได้ แต่ในความเป็นจริง แผนการข้างต้นเน้นช่วยเหลือผู้หญิงที่จะแต่งงานเท่านั้น เนื่องจากคลินิกที่ให้บริการฉีดเชื้อผสมเทียมในโพรงมดลูก (ไอยูไอ) และการทำเด็กหลอดแก้ว (ไอวีเอฟ) มักต้องการทะเบียนสมรส ส่งผลให้การเข้าถึงขั้นตอนดังกล่าวแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย สำหรับคนโสด หรือคู่รักเพศเดียวกัน

ทั้งนี้ นพ.ชา กวาง-ยุล ประธานกลุ่มการแพทย์ซีเอชเอ หรือ “ชา” พัฒนาวิธีรักษาไข่แช่แข็งสำหรับการทำเด็กหลอดแก้ววิธีแรกของโลก เมื่อปี 2541 และเปิดธนาคารฝากไข่มาตั้งแต่ปี 2542

การวิจัยของชา มุ่งเน้นไปที่ศักยภาพของไข่ สำหรับเทคโนโลยีสเต็มเซลล์ ซึ่งเขากล่าวว่า มันสามารถให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์หลายประการ นอกจากปัญหาการเจริญพันธุ์ เช่น การปลูกถ่ายอวัยวะ ทว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศักยภาพของกระบวนการดังกล่าว ในการช่วยยืดการเจริญพันธุ์ของผู้หญิง ได้เข้าสู่กระแสหลัก ชาจึงเห็นความต้องการกระบวนการข้างต้นเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้สันทัดกรณีหลายคนกล่าวว่า ความพยายามการแก้วิกฤติประชากรของเกาหลีใต้ ซึ่งมุ่งเน้นการส่งเสริมให้ประชาชนแต่งงาน และมีบุตรนั้น ไม่ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่

อนึ่ง คนหนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้จำนวนมาก ยอมรับคำว่า “รุ่นเอ็น-โพ” ซึ่งหมายถึงการตัดสินใจละทิ้งความปรารถนาในการแต่งงาน, การเป็นพ่อแม่ และการเป็นเจ้าของบ้าน เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ซบเซา และการแข่งขันอย่างหนัก เพื่อแย่งชิงตำแหน่งงานที่หายาก

ข้อมูลอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2565 ให้เห็นว่า มีชาวเกาหลีใต้เพียง 3.7 คน ต่อประชากร 1,000 คน ที่แต่งงาน ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งในปัจจุบัน ครัวเรือนที่อาศัยอยู่คนเดียว ยังคิดเป็น 41% ของครัวเรือนทั้งหมดในประเทศ และคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอีก.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP