“ทรินิตี เทสต์” (Trinity Test) หรือการทดสอบทรินิตี ซึ่งเป็นการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรกของโลก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2488 เวลา 5.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐ เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนนับล้าน จากการแสดงจำลองประวัติศาสตร์ในภาพยนตร์ “ออปเพนไฮเมอร์”

แต่สำหรับเบอร์ริส ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 83 ปี เขาจำเหตุการณ์นี้ได้อย่างชัดเจน และยังคงอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิม ห่างเพียงไม่กี่ไมล์จากสถานที่ทดสอบลับ ซึ่งบรรดานักวิทยาศาสตร์และผู้นำทหาร มารวมตัวกันในช่วงเช้าตรู่ของวันแห่งประวัติศาสตร์

FRANCE 24 English

เบอร์ริส และครอบครัวของเขา เป็นหนึ่งในประชาชนหลายพันคน ที่อาศัยอยู่ภายในรัศมี 80 กิโลเมตรจากศูนย์กลางการระเบิด ซึ่งในวันนั้น ครอบครัวของเบอร์ริส และเพื่อนบ้านคนอื่น ๆ ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีเมฆรูปเห็ดขนาดยักษ์อยู่บนท้องฟ้า

“เราไม่รู้สึกกลัว เพราะมันไม่ได้ฆ่าพวกเราในตอนนั้น และเราไม่รู้ว่ามันคืออะไร” เบอร์ริส กล่าว

แม้มีคำเตือนจากนักวิทยาศาสตร์ แต่การทดสอบระเบิดปรมาณู เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับสงครามโลกครั้งที่สอง ก็เกิดขึ้นท่ามกลางพายุฝนฟ้าคะนอง และส่งสารกัมมันตรังสีลอยขึ้นไปในอากาศ สูงถึง 15,000 เมตร หลังจากนั้น ฝนตกหนักได้นำสารพิษเหล่านั้นกลับสู่พื้นดิน และซึมเข้าไปในฝุ่นทราย, น้ำประปา และห่วงโซ่อาหาร ซึ่งเบอร์ริสรู้ดี ถึงอันตรายที่แท้จริงของการระเบิดครั้งนั้น

สมาชิกในครอบครัวของเบอร์ริส ต่างเป็นโรคมะเร็ง หรือเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง แม้แต่เบอร์ริสเองก็เป็นโรคมะเร็งผิวหนัง ซึ่งเขาพยายามรักษาด้วยยาแผนโบราณของชนพื้นเมืองอเมริกัน อย่างไรก็ตาม ชาวนิวเม็กซิโกที่ได้รับผลกระทบจากการทดสอบทรินิตี กลับได้รับค่าชดเชยความเสียหายเพียงเล็กน้อย

นายเวสลีย์ เบอร์ริส

นางทีนา คอร์โดวา ผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็ง และผู้บริหารสมาคมทูลาโรซา เบซิน ดาวน์วินเดอร์ส กล่าวว่า ผู้อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบคือ “หนูทดลองที่ผู้รับผิดชอบไม่เหลียวแล” ซึ่งเธอพยายามเรียกร้องความยุติธรรม และหวังว่าการรับรู้ถึงพวกเขา จะสร้างแรงกดดันต่อสภาคองเกรส ให้ขยายการชดเชยต่อรัฐนิวเม็กซิโกได้

อนึ่ง ความพยายามในการขยายขอบเขตการชดเชยความเสียหายดังกล่าว ให้ครอบคลุมผู้ที่ประสบกับการทดสอบนิวเคลียร์ครั้งแรก ซึ่งได้รับการอนุมัติจากวุฒิสภาสหรัฐ เมื่อปีที่แล้ว ถูกนำออกจากร่างกฎหมายกลาโหมฉบับใหญ่ ในเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา โยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องด้วยความกังวลเกี่ยวกับต้นทุน

ทั้งนี้ สารคดี “First We Bombed New Mexico” เผยให้เห็นว่า หลายครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสี ส่วนใหญ่เป็นชาวสเปน และชาวพื้นเมือง

สำหรับเบอร์ริส เขารู้สึกไม่ประทับใจ หลังจากชมภาพยนตร์เรื่อง ออปเพนไฮเมอร์ ซึ่งบรรดานักวิจารณ์ยกให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของปีนี้ เพราะเขามองว่า เนื้อหาในภาพยนตร์เต็มไปด้วยเรื่องโกหก เนื่องจากไม่มีการพูดถึงคนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวเลย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP