โครงการคลองฟูนันเตโช ความยาว 180 กิโลเมตร ซึ่งมีปลายทางในจังหวัดแกบ บริเวณชายฝั่งของกัมพูชา ใกล้กับชายแดนเวียดนาม คาดว่าได้รับการพัฒนาโดยบริษัท ไชน่า โรด แอนด์ บริดจ์ คอร์ปอเรชัน (ซีอาร์บีซี) ของจีน ภายใต้รูปแบบบีโอที (Build-Operate-Transfer) เป็นเวลา 50 ปี ซึ่งการก่อสร้างคาดว่าจะเริ่มต้นในปีนี้ และจะสิ้นสุดภายในปี 2571

เจ้าหน้าที่รัฐกัมพูชา ระบุว่า คลองดังกล่าวจะช่วยให้การนำเข้า และการส่งออกของกัมพูชา เลี่ยงการผ่านท่าเรือของเวียดนาม ขณะที่ พล.อ.ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวเพิ่มเติมว่า คลองแห่งนี้จะสร้างงานให้กับประชาชนราว 1.6 ล้านคนที่อาศัยอยู่ตามเส้นทาง โดยไม่เพิ่มหนี้ต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิจัยจากสถาบันที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเวียดนาม กล่าวเตือนว่า คลองฟูนันเตโช เป็นโครงการ “ดาบสองคม” เพราะมันสามารถส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แต่ในขณะเดียวกัน มันก็อาจอำนวยความสะดวกให้แก่กองทัพจีน ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในดินแดนกัมพูชาเช่นกัน

“คลองฟูนันเตโช ไม่ได้เป็นแค่โครงการทางเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น แต่มันยังมีคุณค่าทางทหารที่สำคัญ ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมากต่อสถานการณ์การป้องกัน และความมั่นคงของทั้งภูมิภาค” นายดิ่ญ เทียน และนายทัญ มินห์ นักวิจัยจากสถาบันการพัฒนาการวิจัยตะวันออก สังกัดสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสหภาพเวียดนาม (วุสตา) ระบุในบทความ

แม้รัฐบาลฮานอยมีท่าทีอ่อนลงบ้าง แต่สื่อของกัมพูชารายงานว่า พล.อ.ฮุน มาเนต พยายามบรรเทาความกังวลของนายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เกี่ยวกับคลองฟูนันเตโช ระหว่างการเดินทางเยือนกรุงฮานอยอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว

ทั้งนี้ เอกสารในเดือน ส.ค. 2566 ซึ่งคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติกัมพูชา ส่งให้กับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ระบุว่า คลองฟูนันเตโช จะมีความลึกอย่างน้อย 4.7 เมตร และกว้าง 50 เมตรที่ก้นคลอง พร้อมกับเสริมว่า ผลกระทบจากคลองส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และจำกัดอยู่ในช่วงเวลาก่อสร้าง

ด้านนายไบรอัน อายเลอร์ ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของศูนย์สติมสัน ในสหรัฐ ซึ่งศึกษาระบบแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิด กล่าวว่า ท้ายที่สุดแล้ว คลองฟูนันเตโช จะเป็นเหมือนเขื่อนกั้นน้ำ ที่ป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าถึงพื้นที่สำคัญในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ทางตอนใต้ของเวียดนาม

อีกด้านหนึ่ง ชาวกัมพูชาจำนวนมากที่อาศัยอยู่ตามเส้นทางขุดลอกคลองฟูนันเตโช ยังคงไม่รู้ว่าทางการจะดำเนินงานก่อสร้างและปรับปรุงพื้นที่อย่างไร ซึ่งบางคนสนับสนุนการพัฒนาอย่างกระตือรือร้น เพราะมันเป็นช่องทางเชื่อมต่อผลิตภัณฑ์ของพวกเขากับตลาดโลก โดยไม่ต้องผ่านเวียดนามและไทย แต่ในทางตรงกันข้าม บางคนก็มีความกังวลเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย, พื้นที่เพาะปลูก และค่าชดเชย เนื่องจากไม่มีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่คนใด สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับโครงการนี้ได้.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES