เรียนคุณหมอ ดร.โอ สุขุมวิท 51 ที่นับถือ
ผมอายุ 59 ปี แต่งงานมีครอบครัวที่อบอุ่น ส่วนภรรยาวัย 40 ปีรักกันดี เรื่องบนเตียงราบรื่นมีความสุขมาโดยตลอด ตอบสนองให้กันและกันได้ดีเสมอมา จนมาเมื่อปีที่ผ่านมา ผมรู้สึกปวดบริเวณลูกอัณฑะมาก จึงไปพบแพทย์ตรวจพบว่าเป็นเนื้องอกที่ต่อมลูกหมาก เข้ารับการผ่าตัดและรักษาจนหาย แต่หลังจากนั้นมาได้ไม่นาน รู้สึกว่าไม่ค่อยมีอารมณ์เหมือนแต่ก่อน อวัยวะเพศก็ไม่ค่อยแข็งตัวเท่าที่ควร แข็งตัวได้ไม่นานก็อ่อนตัวล้มไม่เป็นท่า ทำให้ภรรยาไม่ค่อยอยากมีเพศสัมพันธ์กันเหมือนเคย บางครั้งเธอมีความต้องการผมก็บ่ายเบี่ยงเลี่ยงไป (อ้างว่าเหนื่อย) จึงสงสารเธอมาก แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ใจสับสนวุ่นวายไปหมดกลัวไปต่าง ๆ นานา จึงขอรับคำแนะนำในการแก้ไขจากคุณหมอโอ

ด้วยความนับถือ
อดุลย์ 59

ตอบ อดุลย์ 59
อย่าได้กังวลใจเลยเพราะมีชายหลายคนที่มีปัญหาเช่นเดียวกับคุณ ต้องเรียนว่าอย่าเพิ่งกังวลจนพาลทำให้ทะเลาะเบาะแว้งกับภรรยา หรือคิดระแวงจนเกินเหตุ ทุกปัญหาเรื่องสุขภาพทางเพศมีทางแก้ไขเสมอ ในกรณีของคุณนั้นก่อนอื่นต้องอธิบายให้เข้าใจอย่างนี้ครับ ต่อมลูกหมากในเพศชายนั้นมีหน้าที่หลักในการสร้างของเหลวสีขาวคล้ายน้ำนมข้น ๆ เพื่อกระตุ้นและหล่อเลี้ยงการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิ โดยจะส่งของเหลวนั้นไปสู่ท่อปัสสาวะเพื่อผสมกับน้ำอสุจิที่ไหลออกมาขณะมีการหลั่ง โดยปัญหาที่พบบ่อยเกี่ยวกับความผิดปกติของต่อมลูกหมากในชายที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปก็คือ เนื้องอกของต่อมลูกหมาก ทั้งที่เป็นแบบเนื้องอกธรรมดา และมะเร็งต่อม
ลูกหมาก

จากผลงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า กว่าร้อยละ 30 ในชายที่มีอายุระหว่าง 40-50 ปี มีอาการนี้ และมีแนวโน้มเพิ่มเป็นร้อยละ 50-75 เมื่อเข้าสู่ช่วงวัย 80 ปีขึ้นไป ซึ่งในกระบวนการรักษาทั้งแบบเนื้องอกธรรมดา และกลุ่มมะเร็งนั้นแพทย์มักรักษาด้วยการผ่าตัด โดยวิธีผ่าตัดที่นิยมมากในปัจจุบันคือ การใช้กล้องผ่านเข้าไปทางท่อปัสสาวะเพื่อคว้านเนื้องอกหรือเนื้อร้ายออกมา วิธีนี้จะหลีกเลี่ยงปัญหารบกวนระบบประสาทและเส้นเลือดที่ควบคุม หล่อเลี้ยงองคชาตให้น้อยที่สุด หลังการรักษาจึงมีผลต่อการแข็งตัวน้อยเท่าที่จะหลีกเลี่ยงได้ แต่ก็พบว่ามีคนไข้เพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่เกิดอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศตามมา ในคนไข้ต่อมลูกหมากโตแต่ในคนไข้มะเร็งต่อมลูกหมากต้องผ่าตัดใหญ่กว่าโอกาสอ่อนตัวมีเพิ่มถึงร้อยละ 60 ทว่าส่วนใหญ่ของกลุ่มนี้มักมีสาเหตุมาจากภาวะทางกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหลังการผ่าตัด เกิดความอ่อนแอด้านการบีบรัดตัว ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ช่วยฝึกบริหารกล้ามเพศชั้นผิวนอกและชั้นพื้นฐาน

การบริหารเพิ่มเติมจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาที่ถูกต้องและตรงจุด คนไข้กว่าร้อยละ 50-90 ตามความรุนแรงของโรค เช่น คนไข้มะเร็งจะฟื้นช้าจะได้ไม่เกิน 50% ส่วนโรคต่อมลูกหมากโตพบว่าอาการฟื้นตัวจะดีขึ้นถึง 90% หากได้เข้าสู่กระบวนการรักษาฟื้นฟูกล้ามเพศและเส้นเลือด มีแนวโน้มหายได้ในระยะเวลาไม่นาน ทั้งนี้จึงเป็นกำลังใจให้คุณหาทางแก้ไขได้โดยไว และสามารถรักษาสถานภาพครอบครัวอันอบอุ่นไว้ได้ตลอดไปนานเท่านาน.

………………………………
ดร.โอ สุขุมวิท51

อ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่…