วิกฤติโควิด-19 ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. หนักหนาสาหัสเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ยอดติดเชื้อและผู้เสียชีวิตรายใหม่ ได้ขยับทุบสถิติใหม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะวันศุกร์  9 ก.ค. ผู้ติดเชื้อพุ่งทะลุไปถึง 9,276 ราย เสียชีวิต 72 ราย (ยอดติดเชื้อสะสม 317,506 ราย ยอดผู้เสียชีวิต 2,534 ราย)

นอกจากนี้การประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 (ศบค.)ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศูนย์ฯ เป็นประธาน โดยที่ประชุมศบค.เห็นชอบ ยกระดับมาตรการป้องกัน​ควบคุมโรคโควิด-19 เน้นคุมเข้มการเดินทาง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เป็นระยะเวลา 14 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.เป็นต้นไป

อย่างไรก็ดีก่อนจะมีมาตรการยกระดับ หลาย ๆ ฝ่ายเริ่มจับสัญญาณผิดปกติจาก ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นมา แนวโน้มพุ่งทะยานขึ้นทุกวันจนใกล้หลักหมื่น ที่สำคัญผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ อัลฟา (อังกฤษ B117) เปลี่ยนเป็น สายพันธุ์เดลตา(อินเดีย B.1.617.2) จากพื้นที่ในกทม.-ปริมณฑล พบสายพันธุ์เดลตา กว่า 50% และยังเริ่มขยายวงออกไปต่างจังหวัดแล้ว

นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เคยออกมาแสดงความเป็นห่วงเรื่องนี้เพราะเห็นว่า สายพันธุ์ “เดลตา” มีลักษณะพิเศษทำให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะออกซิเจนต่ำกว่าปกติเร็ว ปอดอักเสบเร็วขึ้นในเวลา 3-5 วัน เมื่อมีติดเชื้อปอดอักเสบมาก ก็ต้องการเตียงผู้ป่วยหนักไอซียูเพิ่ม ถ้าปล่อยให้เหตุการณ์เป็นไปอย่างนี้เรื่อย ๆ ระบบสาธารณสุขจะอยู่ไม่ได้ โดยส่วนตัวถือว่าเป็น “ระลอก (เวฟ) 4” แล้ว พบแพร่ระบาดในชุมชน ครอบครัว องค์กร หาที่มาที่ไปไม่ได้  อีกทั้งตัวเลขขึ้นวันละ 5-6 พันราย

แบ่งเบาภาระวิกฤติรพ.เตียงล้น

ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้ออกสำรวจเกาะติดสถานการณ์วิกฤติจากพื้นที่ “กลุ่มเสี่ยง 10 จังหวัด” กรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล (จ.นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม และสมุทรสาคร) รวมถึงพื้นที่ 4 จว.ชายแดนภาคใต้ (จ.ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสงขลา) รวมไปถึงความเคลื่อนไหวทางภาคเหนือ มีความเคลื่อนไหวอย่างเห็นได้ชัด จังหวัดกลุ่มเสี่ยงสั่งเพิ่มระดม ทั้ง โรงพยาบาลสนาม, ฮอสพิเทล แยกดูแลผู้ติดเชื้อรายใหม่ ขณะที่อีกหลายจังหวัดใหญ่ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน ทางสาธารณสุขออกประกาศ ให้ประชาชนที่มีภูมิลำเนา หรือมีทะเบียนบ้านในจังหวัดนั้น ๆ ที่มีผลยืนยันตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 สามารถกลับมารักษาตัวในจังหวัดบ้านเกิดได้ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลใน กทม.-ปริมณฑล

วันก่อนทีมข่าว 1/4 Special Report ได้ออกไปตรวจสอบข้อมูลทางภาคเหนือ ถึงการรับมือผู้ติดเชื้อโควิด กลับมารักษาตัวบ้านเกิด ตอนนี้มาติดตามทางภาคอีสาน ใน จ.นครราชสีมา ซึ่งก็พบปัญหาคลัสเตอร์ใหม่หลายจุด บางส่วนเป็นกลุ่มแรงงานที่กลับมาจากพื้นที่เสี่ยง นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้ จ.นครราชสีมา เร่งเปิดใช้โรงพยาบาลสนาม ขนาด 100 เตียง ภายใน อาคารชาติชายฮอลล์ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อ.เมืองนครราชสีมา อีกรอบ โดยเตรียมความพร้อมทั้งอุปกรณ์การแพทย์ และเครื่องอำนวยความสะดวกดูแลผู้ป่วยพร้อมเพรียง เคยเปิดใช้ครั้งแรกช่วง เม.ย. 64 และปิดลงชั่วคราวเมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา เมื่อสถานพยาบาลที่รองรับการรักษาผู้ป่วยโควิดค่อนข้างน่าเป็นห่วงจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเปิด รพ.สนาม อีกครั้ง และยังเตรียม อาคารลิปตพัลลภ ในสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติฯ รับได้อีก 100 เตียง รวมทั้งยังประสานทาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และ ค่ายสุรนารี (มณฑลทหารบกที่ 21) เพื่อให้เตรียมความพร้อมให้สามารถเปิดโรงพยาบาลสนามได้ทันทีหากมีความจำเป็นเร่งด่วน

พล.ต.ต.พรชัย นลวชัย ผบก.ภ.จว.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า ทางตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา เตรียมตั้งจุดสกัดไว้หลายจุด เพื่อคัดกรองโรคจากผู้ที่เดินทางจากจังหวัดควบคุมพื้นที่สีแดง โดยมีด่านตรวจหลักอยู่ที่ อ.ปากช่อง และ อ.วังน้ำเขียว ซึ่งเป็นเส้นทางหลักที่มาจาก พื้นที่สีแดง ที่จะเดินทางเข้าตัวจังหวัดนครราชสีมา ส่วนด่านตรวจอาชญากรรมยังมีปกติ แต่ช่วยเสริมตรวจคัดกรองโควิดไปพร้อมกันด้วยเพื่อเป็นการช่วยป้องกันการระบาดอีกทางหนึ่งด้วย

ส่วนจังหวัดสุรินทร์ เป็นอีกหนึ่งจังหวัด ที่ได้ประกาศรับผู้ป่วยติดเชื้อชาวจังหวัดสุรินทร์ กลับมารักษาตัว นพ.สินชัย ตันติรัตนานนท์  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า ภาพรวมจังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วยไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มาจากจังหวัดอื่น ๆ ในพื้นที่เสี่ยง ตั้งแต่ระลอกเมษายนเป็นต้นมา ผู้ป่วยทุกรายหรือทุกคลัสเตอร์ที่เกิดขึ้น เราได้ติดตามค้นหาและควบคุมได้ทุกกรณีและปิดเคสคลัสเตอร์นั้นไปได้ อย่างไรก็ดีตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. เราทราบว่ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ศักยภาพการรักษาพยาบาลจะต้องใช้ความร่วมมือกันทั้งประเทศ โดยมีการประสานงานระบบ “3 หมอ” คือ 1.อสม.ในหมู่บ้าน 2.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ และ 3.โรงพยาบาลอำเภอ เพื่อแยกดูแลใช้กักตัวกลุ่มเสี่ยง และรักษาผู้ติดเชื้อ การที่ประกาศ  สุรินทร์พร้อม ผู้ที่จะเข้ามาต้องประสานกับพื้นที่ก่อน จึงเป็นผลดีในการควบคุมโรค โดยศักยภาพของจังหวัดสุรินทร์นั้น ทีมแพทย์ได้ปรึกษาและช่วยเหลือกันโดยตลอดเป็นทีมใหญ่ มีโรงพยาบาลที่เป็นเครือข่าย 5 แห่ง อยู่ในส่วนของอำเภอต่าง ๆ มีการเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลทุกแห่ง หากผู้ป่วยมีอาการหนักขึ้น รพ.เครือข่าย 5 แห่งรองรับได้ แต่ถ้าหนักมากส่งต่อไป รพ.สุรินทร์ ก็มีความพร้อม

ขอนแก่นงัดมาตรการคุมเข้ม

ทางด้าน นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า ได้ใช้มาตรการคุมเข้มในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ทั้งการควบคุม ป้องกัน สอบสวนโรค ทุกอำเภอของจังหวัดจะต้องเข้มข้นและรัดกุมมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันจากข้อมูลการเดินทางเข้ามาในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ที่มีการรายงานตัวผ่านระบบคิวอาร์โค้ดไทยชนะ ตั้งแต่วันที่ 25-28 มิ.ย. พบว่า มีประชาชนเดินทางเข้ามาในพื้นที่ถึง 364 ราย ส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพฯ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ในชุมชน หมู่บ้าน คือผู้ใหญ่บ้าน ประธานชุมชน และอสม. จึงต้องประสานการทำงานร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง และคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ ในการตรวจติดตามและประเมินสถานการณ์แบบคนต่อคน เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของขอนแก่น

ในส่วนของพี่น้องแรงงานที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่กลุ่มเสี่ยง 10 จังหวัด จะต้องกักตัว 14 วัน และให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานทุกคน โดยที่นายจ้างจะต้องประสานงานกับพื้นที่อย่างเร่งด่วน เพื่อปิดล็อกแรงงานทั้งหมดที่เดินทางกลับมาไว้ในพื้นที่ที่ปลอดภัยเพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อ ในระยะเวลา 14 วัน นอกจากนี้การบริการทางการแพทย์ขณะนี้ทุกโรงพยาบาลมีเตียงผู้ป่วยและระบบการรองรับผู้ป่วย ที่ได้กำหนดไว้ ให้ได้รับการดูแลจากหน่วยบริการโรงพยาบาล โดยมีการประสานงานทั้งระดับอำเภอ ร่วมกับเครือข่ายโรงพยาบาลทุกระดับ

ขณะที่ นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ ให้สัมภาษณ์ว่า จ.กาฬสินธุ์ ได้มีคำสั่งที่ 5968/2564 เรื่องมาตรการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid 19) ฉบับที่ 28 โดยยังคงมาตรการที่เข้มงวดเอาไว้ หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ก็จะมีความผิดตามกฎหมายที่กำหนดเอาไว้ ที่สำคัญขอความร่วมมืองดเดินทางไปยังพื้นที่ควบคุมสูงสุด รวมถึงการคัดกรองเฝ้าระวังกักตัวสังเกตอาการของกลุ่มที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง 10 จังหวัด ที่สำคัญได้สั่งการไปยังท้องถิ่นจังหวัด ให้กำชับ ทุก อปท. 150 แห่ง ให้ตั้ง ศูนย์กักตัว สังเกตอาการ (Local Quarantine) ก่อนจะเข้าหมู่บ้าน 14 วัน แต่ด้วยสถานการณ์ที่ยังวิกฤติ มีชาวกาฬสินธุ์ ที่ป่วยและต้องการกลับมารักษาที่บ้านเกิดอีกจำนวนมาก สถิติในปัจจุบันเฉลี่ยที่ 10–20 คนต่อวัน เป็นการติดต่อเข้ามาทางฮอตไลน์สายด่วน จึงทำให้ทุกฝ่ายต้องเร่งหาทางรับมือโดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมจัดตั้ง โรงพยาบาลสนาม เพิ่มเติม ที่จะต้องบูรณาการร่วมกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

นายแพทย์ประมวล  ไทยงามศิลป์  ผอ.รพ.กาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า มีผู้ป่วยชาวกาฬสินธุ์ติดต่อขอกลับมารักษาตัวที่บ้านเกิดจำนวนมาก แต่เตียงสำรอง 100 กว่าเตียงกำลังจะเต็มหมดแล้ว จึงต้องเตรียมความพร้อม รพ.สนามแห่งที่ 2 ขั้นต่ำ 100 เตียง เอาไว้รองรับผู้ป่วย ทุกขั้นตอนต้องเตรียมพร้อมอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพที่สุด โดยเฉพาะ รพ.สนาม เพื่อใช้เป็นสถานที่ดูแล รักษาผู้ป่วย ที่จะเดินทางกลับมาภูมิลำเนา รวมถึงการรับตัวมารักษาต่อ ในกรณีการตรวจพบระหว่างกักกันตัวแล้ว นอกจากนี้ยังต้องจัดทีมออกตรวจเชิงรุกในการวิเคราะห์และสอบสวนโรคของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข  ขอย้ำว่าทาง รพ.กาฬสินธุ์ มีความยินดีที่จะรับชาวกาฬสินธุ์กลับมารับการรักษาต่อ  ด้วยการดูแลรักษาของคณะแพทย์-พยาบาล รพ.กาฬสินธุ์ จะทำให้สุดความสามารถ หากยอดของผู้ป่วยใน จ.กาฬสินธุ์ ยังอยู่ที่ 10–20 คนต่อวัน การดูแลรักษาน่าจะเพียงพอ ทั้งเรื่องเตียงรักษาและกำลังของบุคลากรทางการแพทย์.