ปรากฏการณ์เหล่านี้ย่อมส่งผลสะท้อนให้กับสังคมไทย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องมาหาทางออกร่วมกัน ก่อนที่ความรุนแรงทางการเมืองในอดีตจะกลับมาอีกครั้ง

ความรุนแรงที่ก่อตัวหนักขึ้นเรื่อย ๆ

ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้สัมภาษณ์ ดร.พัชร์ นิยมศิลปะ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับการชุมนุมกล่าวว่า สถานการณ์การชุมนุมที่ดินแดงผ่านมาแล้ว 4 เดือน มีการชุมนุมแทบจะรายวัน เป็นการชุมนุมที่ไม่ได้ใช้รูปแบบการชุมนุมแบบสงบ จุดชนวนเริ่มต้นมาจาก กลุ่มผู้ชุมนุมใหญ่ ต้องการจะเดินทางไปบ้านนายกรัฐมนตรีแล้วถูกสกัดกั้น กระทั่งมาถึงปัจจุบันข้อเรียกร้องต่าง ๆ กลายเป็นคนละแบบ เช่น เดียวกับกลุ่มผู้ชุมนุมก็แตกแขนงกันออกไปอีกจนเป็นคนละกลุ่มกับที่ชุมนุมกันตอนแรก แถมมีหลายกลุ่มจนเราไม่รู้แล้วว่าใครเป็น“แกนนำ”

กลายเป็นว่าช่วงนี้ม็อบดินแดงมาเพื่อระบาย และต้องการจะปะทะกับตำรวจ ต่างกับการชุมนุมก่อนหน้าของกลุ่มอื่น ๆ ที่มีแนวทางข้อเรียกร้องที่ชัดเจน แต่วิธีการของม็อบที่ดินแดง นอกจากการตอบโต้ผ่านความรุนแรงแล้ว ก็มีการโพสต์บนเพจของกลุ่ม แต่ในพื้นที่ชุมนุมไม่มีการปราศรัยรวมกลุ่มกันเพื่อพูดกับคนที่มารวมตัวกันตรงนั้น

กรณีนี้เราหาคนที่ประสานกับม็อบได้ แต่หาคนที่จะมาเจรจาไม่ได้ ถือเป็นการชุมนุมลักษณะที่ไม่มีแกนนำ แม้แต่การสื่อสารของผู้ชุมนุมผ่านเพจเองบางครั้งก็ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ ทำ ให้หลายคนมองการชุมนุมที่ดินแดง มีความรุนแรงติดต่อกันจนเป็นเรื่องปกติ แต่ภายใต้สิ่งเหล่านั้นข้อเรียกร้องการผลักดันทางการเมืองกลับไม่มี ยกตัวอย่างในวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ตำรวจแถลงระบุชัด มีการจัดชุมนุมด้วยกัน 4 แห่ง การชุมนุมในกลุ่มอื่น ๆ จะมีความสงบเรียบร้อย เช่น การชุมนุมปฏิวัติการศึกษาไทย ที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ จัดกิจกรรมและสื่อสารข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐผ่านตัวแทนที่มารับหนังสือแล้วแยกย้ายกลับ แต่สื่อไม่ได้นำเสนอส่วนใหญ่ไปให้ความสนใจม็อบบริเวณพื้นที่ดินแดง 

ปกติม็อบต้องมีการทำให้ผู้ชุมนุมมีการติดตาม และทำประเด็นข้อเรียกร้องให้ชัดเจน เพื่อสร้างฐานของการชุมนุม ขณะเดียวกันก็ต้องมีการขยายฐานมวลชนให้มากขึ้น เช่น กลุ่มนักเรียนเลว เป็นกลุ่มที่มีฐานของผู้ชุมนุมที่แข็งแรง ชัดเจน เป้าหมายเรียกร้องกลุ่มนี้จะแคบกว่า กลุ่มราษฎร โดยเป้าหมายของผู้ร่วมชุมนุมจะเป็นนักเรียนจึงจะเห็นได้ว่า ผู้ร่วมชุมนุมในกลุ่มนี้มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้จากกลุ่มครูเริ่มมาเข้าร่วมด้วย  ส่วน กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ และกลุ่มราษฎร หายไปเหตุผลคงมาจากแกนนำถูกจับไปทั้งหมด ขณะที่ กลุ่มคาร์ม็อบ ของ บก.ลายจุด ดูเหมือนจะรวบรวมผู้ชุมนุมได้มากที่สุดและกระจายไปถึงพื้นที่ต่างจังหวัด ถือเป็นการแสดงออกที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากเกินคาดการณ์ แต่ก็ยังไม่สามารถทำอะไรรัฐบาลได้ ซึ่งแกนนำก็โดนภาครัฐพยายามฟ้องไม่ว่าจะด้วยคดีอะไรที่สามารถยื่นเรื่องได้ ในทางวิชาการเรียกพฤติกรรมนี้ว่า การสร้างภาระทางคดี ให้กับแกนนำเพื่อที่จะสร้างข้อกำหนดไม่ให้จัดการชุมนุมได้

แนะภาครัฐเร่งหาทางแก้สู่การเจรจา

ดร.พัชร์ กล่าวต่อจะเห็นว่า ม็อบอื่น ๆ ที่ไม่ใช้ความรุนแรงก็ยังมีการชุมนุมกันปกติ และปรับให้เข้ากับสถานการณ์โควิด แต่ม็อบที่มีความรุนแรงปะทะกับเจ้าหน้าที่คือบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ซึ่งไม่เป็นไปอย่างสงบเพราะหลักเสรีภาพการชุมนุมคือ ต้องเป็นไปด้วยความสงบและสันติ ปราศจากอาวุธ แต่การชุมนุมที่ดินแดงถือว่ามีอาวุธที่ใช้โต้ตอบกันก็มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะตำรวจที่ดูแลการชุมนุมที่ดินแดง ก็ใช้กระสุนยางโต้ตอบผู้ชุมนุม แบบไม่ได้อยู่ในกรอบการดูแลการชุมนุมสาธารณะตั้งแต่แรก เลยทำให้ต่างฝ่ายต่างใช้ความรุนแรงโต้ตอบกัน บางครั้งจะเห็นได้จากเจ้าหน้าที่นั่งในรถตามไล่ยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุม เป็นเหมือนการปราบผู้ชุมนุม มากกว่าจะมาดูแลการชุมนุม

กระบวนการเจรจา สำหรับผู้ชุมนุมที่ดินแดงดูเหมือนจะเกิดขึ้นยาก เพราะไม่มีใครออกมาบอกว่า เป็น แกนนำ ผู้ชุมนุม เพราะที่ผ่านมาพฤติกรรมของตำรวจมักจะดำเนินคดีกับแกนนำ จนทำให้สุดท้ายผู้ชุมนุมก็ไม่มีใครอยากออกตัวว่าเป็นแกนนำ สิ่งนี้ทำให้เกิดการเพิ่มความรุนแรงของแต่ละฝั่งมากขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็จะเริ่มใช้กำลังอย่างเด็ดขาด และปราบปราม ซึ่งจะส่งผลกระทบในระยะยาวกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและเยาวชนเหล่านี้จะมีการบาดเจ็บทางความคิดและจิตใจ เรียกว่าเป็น บาดแผลในชีวิต ไม่ต่างจากผู้ร่วมชุมนุมในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 หรือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 35

ดังนั้นเมื่อมีการใช้กำลังกับผู้ชุมนุม และค่อย ๆ พัฒนาการความรุนแรงโต้ตอบกัน การแก้ปัญหาที่ดีคือ เจ้าหน้าที่ควรลดการใช้กำลังเพื่อโต้ตอบกัน เพราะตอนนี้เหมือนต่างฝ่ายต่างสั่งสมความแค้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และพร้อมจะเดินหน้ามาเอาคืนกันได้ทุกเวลา โดยแนวทางแก้ปัญหาความรุนแรง รัฐควรเปิดช่องให้ผู้ที่เห็นต่างเรียกร้องผ่านกระบวนการอื่น ๆ เพราะที่ผ่านมาผู้ชุมนุมพยายามเรียกร้องหลายวิธี แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ สิ่งนี้ทำให้เกิดม็อบและการชุมนุมขึ้นบนท้องถนน เพราะวันนี้ปัญหาเกิดจากการที่รัฐบาลไม่สนองต่อความต้องการของประชาชน ซึ่งเป็นเหมือนการตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนออกไป เมื่อเป็นเช่นนี้ประชาชนก็รู้สึกว่า ส.ส. ก็ไม่ได้ส่งเสียงเพื่อพวกเขา เลยต้องออกมาชุมนุมกันอย่างที่เป็น

อนาคตต่อให้การเมืองที่เป็นอยู่นี้ยุติไปแล้ว แต่คนไทยก็ยังมีการจัดม็อบอยู่เรื่อย ๆ เพราะม็อบส่วนใหญ่เรียกร้องทางการเมือง และความยุติธรรมในสังคม แต่ถ้ามองในประเทศที่เจริญแล้วฝั่งยุโรป การเรียกร้องของม็อบจะแปรเปลี่ยนสภาพไปเป็นการเรียกร้องเรื่องการแก้ปัญหาโลกร้อน หรือเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ประเด็นเหล่านี้จะก้าวไปสู่อีกระดับของการเคลื่อนไหวทางสังคม

เราจะเห็นว่าประเด็นต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากการเมือง ที่ทำให้คนออกมาร่วมชุมนุมกันในตอนนี้ ประเทศไทยยังไม่ค่อยเห็น การเรียกร้องในเรื่องอื่น ๆ เช่นเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะส่วนใหญ่การเคลื่อนไหวเรื่องพวกนี้กลายเป็นหน้าที่ขององค์กรอิสระ ซึ่งในภาพของม็อบในไทย มักถูกมองว่าเป็นเรื่องการเมืองเป็นหลัก ทั้งที่จริงมีอีกหลายประเด็นที่ทั่วโลกเคลื่อนไหว

ในอนาคตม็อบในไทยยังคงมีอยู่ ประเด็นอาจแตกต่างออกไปจากปัจจุบัน แต่สิ่งที่เราควรจะเรียนรู้คือ “การจัดการม็อบ” ของรัฐบาลที่ไม่ให้เกิดความรุนแรงบานปลายจนเป็นการสั่งสมความแค้นระหว่างกันอย่างที่กำลังเกิดขึ้นบริเวณ “สามเหลี่ยมดินแดง” กำลังเป็นอยู่ตอนนี้.