จากการประเมินของทางการเคียฟ รัสเซียมีทหารกว่า 114,000 นาย ปักหลักใกล้ชายแดนยูเครน ตลอดแนวตั้งแต่ทางเหนือ ตะวันออก ลงไปถึงคาบสมุทรไครเมียภาคใต้ โดยทหารประมาณ 92,000 นายในจำนวนดังกล่าว เป็นทหารราบ ส่วนที่เหลือเป็นทหารกองทัพอากาศ และทหารเรือ ในทะเลอาซอฟ

จากรายงานของสำนักข่าวเอพี ส.ส.พรรครีพับลิกันหลายคน ร่วมกันกดดันรัฐบาลสหรัฐ ให้เพิ่มการสนับสนุนทางทหารแก่ยูเครน แต่นักวิเคราะห์มองว่า อาจเป็นความเสี่ยง จากที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เพียงแค่ต้องการกดดันยูเครน ก็จะกลายเป็นการเผชิญหน้าเต็มรูปแบบ ซึ่งเท่ากับจะเพิ่มอันตรายให้ยูเครน และเกิดวิกฤติพลังงานในยุโรป ในฐานะรัสเซียเป็นผู้จัดส่งก๊าซและน้ำมันรายใหญ่

แต่การตอบสนองอย่างอ่อนแอของสหรัฐ มีความเสี่ยงเหมือนกัน เพราะยิ่งจะทำให้ปูตินได้ใจ ก้าวร้าวต่อยูเครนมากขึ้น โดยอาจถึงขั้นยึดดินแดนยูเครนเพิ่มอีก ซึ่งจะสร้างความเสียหายทางการเมืองต่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ในยามที่คะแนนนิยมกำลังตก

เรื่องจะง่ายกว่า หากสหรัฐรู้ความต้องการที่แท้จริงของปูติน ในความตึงเครียดนี้ แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดหลายคนของรัฐบาลสหรัฐ ยอมรับว่า “ไม่รู้” พล.อ.ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ กล่าวเมื่อวันที่ 17 พ.ย. ว่า สหรัฐยังไม่รู้ว่าปูตินต้องการอะไรกันแน่

CNN

1 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น นายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า สหรัฐยังไม่ทราบเจตนาที่แท้จริงของมอสโก ที่รู้ก็เพียงแผนยุทธศาสตร์ตามตำรา ที่รัสเซียเคยใช้

ไมค์ ควิกลีย์ ส.ส.พรรคเดโมแครต จากรัฐอิลลินอยส์ และสมาชิกกรรมาธิการข่าวกรองสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ กล่าวว่า การรู้ความมุ่งหมายของปูติน มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการหลีกเลี่ยงความผิดพลาด ที่อาจเป็นชนวนก่อสงครามใหญ่ วิธีการตอบสนองของสหรัฐ ไม่ว่าในรูปแบบใด จะต้องรอบคอบอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้กลายเป็น “ผู้ระงับเหตุ” หรือ “ผู้ยั่วยุปลุกปั่น”

รัสเซียยึดและผนวกดินแดน คาบสมุทรไครเมียจากยูเครน เมื่อปี 2557 และรัสเซียหนุนหลังกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดน ในแคว้นดอนบาส ทางภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งการสู้รบยืดเยื้อจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 14,000 ราย ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติตะวันตกกับรัสเซีย เสื่อมถอยลงสู่ระดับเกือบเท่ายุคสงครามเย็น

การเสริมกำลังทหารประชิดชายแดนยูเคน อาจเป็นการโหมโรงก่อนการรุกรานอีกครั้ง บลิงเคนกล่าวกับ รมว.การต่างประเทศยูเครน ช่วงต้นเดือนนี้ว่า กลยุทธ์ตามตำราของปูติน เท่าที่เคยเห็นมาคือ ส่งทหารประชิดเขตแดนก่อน แล้วรุกข้ามแดน โดยอ้างว่าถูกยั่วยุ

ทางด้าน นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) กล่าวว่า นาโตมองการระดมกำลังทหารติดเขตแดนยูเครนครั้งนี้ “ผิดปกติ” ในอดีตรัสเซียเคยเคลื่อนแบบนี้มาแล้ว ในการแทรกแซงกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน

โดยส่วนตัวของปูตินเอง เคยแสดงจุดยืน ไม่ยอมรับความเป็นรัฐเอกราชของยูเครนหลายครั้ง ในบทความเขียนยาว ที่ทำเนียบเครมลินตีพิมพ์เผยแพร่ ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ปูตินยืนยันว่า ชาวยูเครนกับชาวรัสเซีย เป็น “กลุ่มคนเชื้อสายเผ่าพันธุ์เดียวกัน” และอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงของยูเครน อาจเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของรัสเซีย

นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า ความเคลื่อนไหวของมอสโกอาจเป็นเพียงแค่การข่มขู่ เพื่อกดดันไม่ให้ยูเครนใกล้ชิดกับตะวันตก มากกว่าที่เป็นอยู่ หรือให้ได้รับการอนุมัติ เข้าเป็นสมาชิกใหม่ขององค์การนาโต

เรื่องทั้งหมดที่กล่าวมา ทางการมอสโกออกโรงปฏิเสธว่า ไม่มีเป้าหมายรุกรานใคร การเสริมกำลังทหารตามแนวเขตแดนใกล้ยูเครน เป็นแค่การตอบสนองต่อกิจกรรมทางทหารถี่ขึ้นของนาโต ตามแนวเขตแดนตะวันตกของรัสเซีย รวมทั้งการเสริมแสนยานุภาพ ของกองทัพยูเครน อย่างเห็นได้ชัดในปีนี้.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS