ท่ามกลางบรรยากาศคึกคักของการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ที่เริ่มนับถอยหลังสู่การเปิดคูหาเลือกตั้งในวันที่ 28 พ.ย.นี้ ภายใต้บริบททางการเมืองระดับชาติที่เริ่มคึกคักไม่แพ้กัน ภายหลังรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้ รวมทั้งการขยับแก้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วย การเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงถือโอกาสสนทนากับ “แม่บ้าน กกต.” พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงแนวทางในการจัดการเลือกตั้ง อบต. รวมทั้งการเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งระดับชาติในอนาคต

โดย “พ.ต.อ.จรุงวิทย์” เปิดฉากกล่าวว่า ด้วยความพร้อมของ กกต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการเลือกตั้ง อบต. ที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมการเลือกตั้ง อบต. 5,300 แห่ง ทั่วประเทศ จนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับรายงานปัญหาอุปสรรคใด ทั้งเรื่องการจัดหน่วยเลือกตั้ง การอบรมกรรมการประจำหน่วย ซึ่งเรียบร้อยทุกอย่าง

แต่มีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง 2 อย่าง คือ 1. สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งกลัวว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะไม่กล้าออกมาใช้สิทธิ เรื่องนี้ขอให้มั่นใจว่าหน่วยเลือกตั้งเราเป็นหน่วยเลือกตั้งที่ไม่สามารถเป็นที่แพร่กระจายเชื้อได้อย่างแน่นอน

เพราะว่าการออกแบบหน่วยเลือกตั้ง มีการออกแบบร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งการออกแบบค่อนข้างละเอียด และที่ผ่านมาทั้งการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เลือกตั้ง อบจ. เลือกตั้งเทศบาล ไม่เคยได้รับรายงานว่ามาใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วติดเชื้อโควิด-19 เลย ดังนั้นขอให้ประชาชนมีความมั่นใจในการมาใช้สิทธิเลือกตั้ง และ 2. สถานการณ์น้ำท่วมในบางพื้นที่ ซึ่งตอนนี้มีกฎหมายรองรับอยู่แล้วหากพื้นที่ใดไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งก็สามารถเลื่อนการเลือกตั้งในจุดนั้นออกไปได้ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง และกรรมการประจำหน่วย ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามที่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งที่ผ่านมาเวลาเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งก็ยังสามารถจัดการเลือกตั้งได้

“อย่างไรก็ตามถึงตอนนี้พูดได้ว่าเราพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ ที่จะจัดการเลือกตั้งได้ เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ออกมาใช้สิทธิได้”

@ กกต.ตั้งเป้าการเลือกตั้งอบต.ในครั้งนี้อย่างไร

ในการเลือกตั้ง อบต.ครั้งนี้เราคาดหวังว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิ 70 เปอร์เซ็นต์ เพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละตำบล คงรับรู้รับทราบแล้วว่า จะต้องเลือกคนที่มาบริหารจัดการภาษี เพื่อดูแลในตำบล หมู่บ้าน ซึ่งประชาชนคงตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ ส่วนที่มีคนกล่าวว่า เป็นเรื่องอำนาจเงินกับอิทธิพลนั้น หากประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกันให้เยอะๆ ผมคิดว่าเรื่องอำนาจเงินและอิทธิพลก็คงจะหมดไปในอนาคต เพราะฉะนั้นอยากฝากผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมมือร่วมใจกันออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้

@ อยากฝากอะไรกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อบต. ทั่วประเทศ ในการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

ขอให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งตัดสินใจว่า จะเลือกใครไปทำหน้าที่ สมาชิกอบต. และนายกอบต. โดยอาจจะดูจากนโยบาย คนที่เสียสละ มีจิตสาธารณะ หรืออะไรก็ตาม แต่อย่าคำนึงถึงผลประโยชน์ เงินทอง หรืออิทธิพลใดๆ ทั้งนี้เมื่อตัดสินใจว่าจะเลือกใคร ตอนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งขอให้สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และขอให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสังเกตบัตรเลือกตั้งให้ดี โดยบัตรเลือกตั้งสีแดง คือ บัตรเลือกตั้งนายกอบต. ซึ่งจะสามารถเลือกได้แค่เบอร์เดียว ส่วนบัตรเลือกตั้งสีน้ำเงินเป็นการเลือกสมาชิก ซึ่งจะเลือกได้ตามจำนวนที่พึงมี บางพื้นที่อาจจะเลือกได้ 2 เบอร์ บางพื้นที่อาจจะเลือกได้เบอร์เดียว เพราะฉะนั้นให้ไปดูที่หน้าหน่วยเลือกตั้ง นอกจากนั้นขอให้ตรวจสอบด้วยว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เราจะเลือกนั้นถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ โดยสามารถตรวจสอบได้ที่หน้าหน่วยเลือกตั้ง

นอกจากนั้นเมื่อเข้าคูหาเลือกตั้งจะมีเจ้าหน้าที่ อสม.ตรวจวัดอุณหภูมิ และจะมีจุดล้างมือ หลังจากใช้สิทธิเลือกตั้งเสร็จแล้วก็จะมีจุดให้ล้างมือ ส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีอุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.5 ขึ้นไปนั้น อาจให้นั่งพักรอ แต่หากวัดอุณหภูมิอีกครั้งยังเกิน 37.5 อยู่ ก็จะถือเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อได้ ก็จะให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในคูหาพิเศษ ซึ่งจะมีการทำความสะอาดทุกครั้งที่มีผู้ไปใช้สิทธิ พอใช้สิทธิเลือกตั้งเสร็จก็จะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขรับตัวไปตรวจรักษาต่อไป ส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ต้องการนำปากกาไปเอง ควรใช้ปากกาลูกลื่นสีน้ำเงินเท่านั้น

“ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเมื่อเข้าไปในคูหาเลือกตั้ง และรับบัตรเลือกตั้งแล้ว ให้กาบัตรตามปกติแล้วพับบัตร ก่อนหย่อนลงหีบบัตรเลือกตั้ง แต่อย่าไปฉีกบัตรเลือกตั้งเพราจะถูกดำเนินคดีอาญาได้ เพราะส่วนใหญ่เมื่อกาผิดแล้วจะไปฉีกบัตรทิ้ง ซึ่งจะทำให้มีความผิดขึ้นมาได้”

@ ขณะนี้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้ จึงต้องมีการแก้ไข พ.ร.ป. 2 ฉบับ ซึ่งถูกมองว่า เป็นสัญญาณที่อาจจะมีการนำไปสู่การเลือกตั้ง กกต.มีความพร้อมสำหรับการจัดเลือกตั้ง ส.ส.มากน้อยแค่ไหน

ในส่วนกระบวนการแก้ไขกฎหมายก็อยู่ในกระบวนการที่ต้องทำ ส่วนการจัดการเลือกตั้งของ กกต. ในฐานะผู้ที่จัดการเลือกตั้งโดยตรง เราก็ได้ถอดบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา โดยจะต้องอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนให้มากที่สุด เช่น ในการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมาจะมีประชาชนไปรอใช้สิทธิต่อหน่วยค่อนข้างมาก ครั้งนี้ก็ต้องมีการปรับปรุงเนื่องจากมีสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจะต้องมีการเว้นระยะห่าง รวมทั้งจะต้องมีการจัดการเรื่องการลงทะเบียนใช้สิทธิล่วงหน้า

รวมทั้งเรื่องบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ซึ่งกกต.ได้ทำความตกลงกับกระทรวงการต่างประเทศ ว่า จะขอให้มีการนับคะแนนนอกราชอาณาจักรแล้วส่งผลคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ เข้ามาแทน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนที่เคยเกิดขึ้น  นอกจากนั้นการรายงานคะแนนผลการเลือกตั้งแต่ละหน่วยจะมีการรวบรวมในระบบดิจิตอล เพื่อให้สามารถสืบค้นได้ง่ายขึ้น เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนให้มากที่สุด

@ จากการดำรงตำแหน่งเลขาธิการกกต.ตลอดหลายปี มีอะไรที่ต้องปรับปรุง ให้สำนักงานกกต. มีความน่าเชื่อถือ และเรียกศรัทธาจากประชาชนหรือไม่

เรื่องกระบวนการจัดเลือกตั้ง กกต.จะต้องอำนวยความสะดวกประชาชน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นศรัทธาได้ รวมทั้งจะต้องจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างสุจริต เที่ยงธรรม แก้ปัญหาปัญหาการซื้อเสียง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นแนวทางที่ดีสำหรับอนาคต อย่างไรก็ตามคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปไม่น่าจะมีปัญหาอุปสรรคอะไรมาก เพราะมีการแก้ปัญหาโดยถอดบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาแล้ว

@ จากกระแสข่าวการอยู่ในบัญชีสำรอง ส.ว.นั้น จะส่งไม้ต่อภารกิจในตำแหน่งเลขาธิการ กกต. สำหรับเลขาธิการกกกต.คนใหม่อย่างไร

ตอนนี้ยังอยู่ตำแหน่งเลขาธิการ กกต.อยู่ ก็ยังทำหน้าที่เต็มที่ พอถึงวันนั้นจริงๆ ค่อยว่ากันอีกที.