ผมมีนิทรรศการศิลปะน่าสนใจมาแนะนำครับ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ชวนทุกท่านไปร่วมสัมผัส “ความงาม” ในมิติที่หลายท่านไม่เคยนึกถึงมาก่อน ในนิทรรศการศิลปะ “ความงามของโอกาส” ที่จะชวนทุกท่านทำความเข้าใจมุมมองของผู้ก้าวพลาดที่ประตูทุกบานของพวกเขาปิดลง แต่ยังมีบางประตูเปิดให้โอกาสกับพวกเขากลับมาสร้างชีวิตใหม่และกลับคืนสู่สังคมอย่างเต็มภาคภูมิ ลองมาชมเรื่องราวผ่านความคิดและผลงานศิลปะหลายแขนงจาก 7 ศิลปิน ดังนี้ครับ

“โอกาสที่งดงาม” โดย คุณตั้ม – นพพล ชูกลิ่น

คุณตั้มมองเห็นความงามของการให้ เพราะ “การก้าวผ่านอุปสรรคด้วยความหวังและการเรียนรู้ ย่อมนำไปสู่ก้าวใหม่ที่มั่นคงกว่าเดิม”

การได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาดูงานในเรือนจำ ทำให้คุณตั้มในฐานะผู้บริหารบริษัท รีเทล บิซิเนส โซลูชันส์ เกิดแรงบันดาลใจในการริเริ่มกระบวนการรับผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษเข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเหล็กแปรรูปของตนเอง โดยยึดถือแนวคิดที่ว่า วิถีการดำเนินชีวิตที่พลาดพลั้งในอดีต ไม่ได้เป็นตัวกำหนดอนาคต แต่โอกาสในการเรียนรู้ต่างหาก คือแสงแห่งความหวังที่จะส่องสว่างในวันข้างหน้า คุณตั้มได้ถ่ายทอด “โอกาสที่งดงาม” จากมุมมองของผู้ให้และผู้ศรัทธาในคุณค่าของชีวิตผ่านเลนส์ถ่ายภาพ เพื่อร้อยเรียงเรื่องราวความงามนี้สู่สังคมภายนอก

Call Me by My Name” โดย คุณเปิ้ล – จาริณี เมธีกุล

โปรเจกต์ภาพวาดสีอคริลิคโดยผู้ต้องขัง Call Me by My Name” หรือการสอนผู้ต้องขังวาดภาพไม่เหมือนของคุณเปิ้ล เกิดขึ้นจากการตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมผู้ต้องขังถึงถูกเบลอหน้าเวลาสื่อนำเสนอเรื่องราวของเขา

ผู้ต้องขังบางคนยินดีที่จะนำเสนอตัวต้นของพวกเขาเองในฐานะปัจเจกคนหนึ่ง โปรเจคต์นี้จึงเริ่มต้นขึ้น เพื่อสร้างพื้นที่ในการนำเสนอเรื่องราวและตัวตนที่แท้จริงที่มากกว่าสถานะความเป็นผู้ถูกคุมขัง ผ่านการวาดภาพตัวเองและเพื่อนในแบบที่สะท้อนภาพที่พวกเขามองเห็นตัวเอง

หัวใจสำคัญที่คุณเปิ้ลมุ่งหวังจะให้ผู้ต้องขังได้รับจากโปรเจกต์นี้คือ การตระหนักถึงตัวตนและคุณค่าของตัวเองที่สะท้อนผ่านการวาด โดย “อย่าให้ใครเขามาตีตราคุณค่าเราว่าวาดรูปไม่เหมือน ไม่สวยเหมือนใคร” คุณเปิ้ลย้ำกับนักเรียนเสมอว่า “มันไม่เป็นอะไรเลย เพราะทุกคนมีคุณค่าในตัวเองเสมอ”

บทพิสูจน์ชั่วชีวิตของอดีตนักโทษสู่สังคม” โดย คุณฟาร์ สมศักดิ์ เนตรทอง

หลังจากได้รู้จักและรับฟังเรื่องราวชีวิตของคุณโบว์ในงานอบรมการรายงานข่าวเพื่อลดการกระทำผิดซ้ำที่จัดโดย TIJ และสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

คุณฟาร์รู้สึกสนใจในแนวคิดและเส้นทางชีวิตของคุณโบว์ ทั้งในแง่การเริ่มต้นประกอบอาชีพอีกครั้ง การใช้ศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจ และการเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก ๆ และวัยรุ่นในละแวกบ้าน สามารถเปิดใจพูดคุยและขอคำปรึกษา

การได้เรียนรู้ชีวิตและประสบการณ์ของคุณโบว์ สร้างแรงบันดาลใจในการถ่ายทอดเรื่องราว “โอกาสหลังพ้นโทษ” ไปสู่การรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น ผ่านมุมมองของช่างภาพข่าวและสารคดีที่ทำงานในวงการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสานต่อเจตนาดั้งเดิมของคุณโบว์ที่อยากจะให้ประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง ได้ช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับอดีตผู้ต้องขังให้กับสังคมภายนอกมากขึ้น

“โอบกอด โอกาส” โดย คุณปั๊ม – อนุชิต คำน้อย (คิ้วต่ำ)

เพราะการให้โอกาส เริ่มต้นง่าย ๆ ที่ “ความเข้าใจ” และนำไปสู่ผลงานวาดภาพประกอบลายเส้นจากคุณปั๊ม เจ้าของเพจเฟซบุ๊ค “คิ้วต่ำ” ที่เน้นการถ่ายทอดความรู้สึกใกล้ตัวที่ทุกคนมีเหมือนกัน เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้อ่านกับเรื่องราวที่ต้องการสื่อสาร ผ่านรูปภาพและงานเขียนที่เรียบง่าย แต่มีความหมายลึกซึ้ง

โอบกอด โอกาส” สื่อว่าความผิดพลาดเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับความเป็นมนุษย์ ไม่มีใครบนโลกนี้ที่ไม่เคยทำผิดพลาด สิ่งที่เราต้องการในวันที่ฟ้ามืดมนที่สุด อาจเป็นเพียงเสียงเล็ก ๆ จากคนรอบข้างที่บอกให้ไปต่อ ยังมีโอกาสให้เริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้ง

ผลงานชิ้นนี้จึงเปรียบเสมือนตัวแทนของสังคมที่พร้อมต้อนรับการกลับมาของผู้ก้าวพลาด ด้วยความเชื่อที่ว่า กำลังใจจากคนรอบข้างเป็นแรงขับเคลื่อนที่ดีที่สุด หากทุกคนแสดงออกต่อกันอย่างเข้าอกเข้าใจ และมองเห็นความสำคัญของการให้โอกาส ความฝันในการสร้างสังคมที่ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังจะสำเร็จได้ไม่ยาก

โอกาสสถาน” โดย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

การได้เป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้กับลูกศิษย์ จุดประกายให้ “อ.หนอน” หรือ ผศ.ดร.ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หันมาสนใจประเด็นเกี่ยวกับการจองจำที่ไม่ใช้เรือนจำและเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดโครงการ “โอกาสสถาน” ขึ้น ผ่านความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ซึ่งนำไปสู่ชั้นเรียนออกแบบและการจัดทำพิพิธภัณฑ์เรือนพธำมรงค์ ณ เรือนจำชั่วคราวกลางเวียง จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้แนวคิด “from Dark to Light” ซึ่งเปรียบความรู้สึกสิ้นหวังกับการติดอยู่ในมุมมืด จนได้เดินมาถึงอีกฝั่งและพบว่ายังมีแสงสว่างอยู่ แสงสว่างนั้นเปรียบได้กับ “โอกาส” และ “ความเข้าใจ” ที่คนภายนอกหยิบยื่นให้

แนวคิด “การจองจำที่ไม่ใช้เรือนจำ” ยังนำไปสู่การออกแบบเรือนพักและพื้นที่อเนกประสงค์ข้างพิพิธภัณฑ์ เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกอาชีพและเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัวให้กับผู้ต้องขัง ประกอบด้วยส่วนพักอาศัยและครัวเปิดสำหรับสอนทำอาหาร โดยใช้แนวคิด “See More” นำเอาพื้นที่ที่เคยถูกจัดวางไว้ด้านหลัง เช่น ครัว ออกสู่สาธารณะ เพื่อให้ผู้มาเยือนได้เปิดใจและมองเห็นศักยภาพของผู้ต้องขัง จุดเด่นอีกประการของการออกแบบอยู่ที่ส่วน façade ของอาคารที่ต้องการจะสื่อถึงปราการที่กั้นเรือนจำออกจากโลกภายนอก แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือ ความโปร่งโล่ง ที่อนุญาตให้มีแสงส่องผ่าน ทำให้ทุกคนสามารถมองเห็นอีกฟากหนึ่งของกำแพงได้ โครงการนี้จึงเป็นทั้งพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับผู้ต้องขังหญิงและยังเป็นโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้และทำความเข้าใจประเด็นทางสังคม ซึ่งจะช่วงลดช่องว่างระหว่างคนหลังสองฟากฝั่งของกำแพงให้มองเห็นและเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น

Hourglass” โดย คุณแอ๊บ – นรรัตถ์ ถวิลอนันต์ (Abi)

Hourglass” เปรียบความหวังเป็นดั่งเม็ดทรายที่ถ่ายทอดความรู้สึกโหยหาอิสรภาพของผู้ต้องขังออกมาในรูปแบบผลงานสะท้อนสังคมในรูปแบบของงานสตรีทอาร์ท โดยคุณแอ๊บ หรือที่รู้จักกันในนาม Abi ศิลปินแนวสตรีอาร์ทที่สร้างสรรค์ผลงานสะท้อนสังคมมาแล้วมากมาย
ผลงาน Hourglass ได้แรงบันดาลใจมาจากจดหมายที่ผู้ต้องขังเขียนถึงและได้รับจากครอบครัว คุณแอ๊บได้ถ่ายทอดการรอคอยคืนวันแห่งอิสรภาพของผู้ต้องขังที่ขับเคลื่อนด้วยแรงใจจากคนที่รัก โดยเปรียบการรอคอยของผู้ที่ถูกคุมขังประหนึ่งนาฬิกาทราย มีความหวังเป็นดั่งเม็ดทรายที่ร่วงโรย นับถอยหลังสู่อิสรภาพที่ฝันใฝ่อีกครั้ง ชีวิตพวกเขาเปรียบเสมือนดอกบัวที่กำลังจะโผล่พ้นน้ำ ซึ่งคงไม่อาจแย้มกลีบงดงามได้เพียงลำพังหากขาดพระอาทิตย์ส่องแสงค้ำชูให้เติบใหญ่ได้ต่อไป

ช่างสิบหมู่” โดย ผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษธนบุรี

ว่ากันว่าศิลปะเป็นเครื่องจรรโลงใจมนุษย์ ผู้คนล้วนถูกค้ำชูด้วยศิลปะได้ไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะมองจากในบริบทผู้สร้างสรรค์หรือผู้เสพศิลป์ ผลงานศิลปะจากฝีมือผู้ต้องขังในโครงการ “ช่างสิบหมู่” ของกรมราชทัณฑ์ เป็นเครื่องยืนยันถึงประโยคข้างต้น

งานศิลป์ไม่เพียงแต่สร้างอาชีพให้แก่ผู้ต้องขัง หากยังเติมเต็มจิตวิญญาณและจุดไฟฝันให้คืนกลับขึ้นมาอีกครั้ง ศูนย์อบรมวิชาชีพช่างสิบหมู่ ณ เรือนจำพิเศษธนบุรี ก่อตั้งขึ้นในปี 2560 เพื่ออบรมทักษะวิชาชีพเฉพาะทางด้านช่างสิบหมู่ ซึ่งประกอบด้วย ช่างเขียน ช่างแกะ ช่างสลัก ช่างกลึง ช่างหล่อ ช่างปั้น ช่างหุ่น ช่างรักลงรักปิดทอง ช่างบุ และช่างปูน การฝึกอบรมนี้ช่วยปลอบประโลมจิตใจ ฝึกสมาธิ และสามารถต่อยอดเป็นอาชีพหลังพ้นโทษ นอกจากจะเป็นการสร้างช่างฝีมือที่มีคุณภาพให้กับสังคมแล้ว ทั้งยังเป็นการสืบสานวิถีช่างโบราณและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมให้อยู่คู่กับประเทศไทยต่อไป

ทั้งหมดนี้เป็นคำโปรยของงานนิทรรศการศิลปะ “ความงามของโอกาส” ครับ ใครที่สนใจชอบชมงานศิลปะ อยากเข้าใจผู้ก้าวพลาด และต้องการทราบความหมายที่ลึกซึ้งที่ซ่อนอยู่ในผลงาน สามารถรับชมได้ตั้งแต่วันที่ 22 – 26 ธันวาคม 2564 เวลา 10:00 – 19:00 น ณ อุทยาน 100 ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เลยครับ

………………………………………..
คอลัมน์ : ก้อนเมฆเล่าเรื่อง
โดย “น้าเมฆ”
https://facebook.com/cloudbookfanpage