เปิดศักราชใหม่เข้าสู่ “ปีเสือ” หลายคนยังหวาดผวาว่าจะเป็นเสือป่วย เสือไฟ หรือเสือทะยาน ด้วยเพราะสารพัดปัจจัยเสี่ยงกำลังย่างกรายเข้ามาเป็นจำนวนไม่น้อย

ทั้งเชื้อโรค ทั้งสงครามการค้า ทั้งสงครามคาร์บอน และอีกมากมายสารพัด!! คำถาม? อยู่ที่ว่า รัฐบาลจะ “เอาอยู่” หรือไม่? ต่อให้รัฐบาลบอกว่ายังคงมีวงเงินกู้โควิด ในส่วนเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทเหลืออยู่ก็ตาม 

หรือรมว.คลัง ที่ออกมาบอกว่าได้เตรียมเงินไว้อย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งจากวงเงินงบประมาณ และเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจก็ตาม

ล่าสุด… ณ วันที่ 14 ธ.ค.64 วงเงินกู้ฯ ที่ว่า มียอดเหลืออยู่เพียง 189,567 ล้านบาท แยกเป็นเงินที่ใช้ด้านการรองรับการดูแลทางสาธารณสุข 33,198 ล้านบาท ด้านการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด 69,190 ล้านบาท และด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 87,178 ล้านบาท

แต่ความแน่นอน!! ก็คือความไม่แน่นอน…ซึ่งต้องรอดูฝีมือของรัฐบาล ว่าจะสามารถบริหารจัดการให้เศรษฐกิจไทย “ไม่ดิ่งเหว” ลงไปได้อย่างไร

เพราะอย่าลืมว่า ความเหลื่อมล้ำของคนไทยยังคงมีอยู่สูง รายได้ระหว่างคนจนและคนรวย ยังอยู่ห่างกันมาก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บรรดาผู้มีรายได้น้อยในประเทศ ยังคงนั่งเฝ้ารอการช่วยเหลือจากรัฐบาล

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “บัตรคนจน” หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ในปีที่แล้ว บรรดารากหญ้ารากแก้ว ที่ตั้งความหวังไว้จะได้บัตรนี้เป็นของขวัญปีใหม่ในปีเสือ ก็ต้อง “รอเก้อ” มาแล้ว

เมื่อย่างเขาสู่ปีใหม่…ก็ยังคงเฝ้ารอและเฝ้าคอย ว่า…สุดท้ายแล้ว!! ตัวเองยังคง “ติดโผ” ได้รับสิทธินี้ต่ออีกหรือไม่? 

เพราะวงเงินที่ได้รับ เดือนละ 500 เพื่อไปซื้อข้าวของเครื่องใช้ในร้านค้าธงฟ้า ส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ก็ช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้ไม่น้อยทีเดียว

แม้เป้าประสงค์ของรัฐบาลจะชัดเจนว่าจำนวนคนจน ต้องลดลง เพราะรัฐบาลมีแนวทางช่วยเหลืออื่นควบคู่กันไปด้วย แต่ด้วยวิกฤติการณ์ของไวรัสโควิด ก็ทำให้จำนวนคนจนเพิ่มขึ้น จึงคาดกันว่าในรอบใหม่นี้จะมีผู้ได้รับสิทธิราว ๆ 15 ล้านคน เพิ่มเติมจากของเก่าที่มีอยู่ประมาณ 13.6 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ยืนยันว่าทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว ทั้งวงเงิน ทั้งเงื่อนไขใหม่ รอแค่รัฐบาล ไฟเขียว” เท่านั้น!!

ส่วนเงื่อนไขของผู้ที่มีสิทธิได้รับบัตรคนจน เป็นอย่างไร? มาทบทวนกันอีกที

เริ่มจาก… ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ รายได้ต่อคนไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี  ไม่มีทรัพย์สิน หรือหากมีทรัพย์สินทางการเงิน เช่น เงินฝากธนาคาร สลากออมทรัพย์ พันธบัตร ตราสารหนี้ รวมกันทั้งสิ้นก็ต้องไม่เกิน 1 แสนบาท 

แต่ถ้าหากถือครองกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดิน ต้องเป็นบ้านหรือทาวน์เฮาส์ ที่มีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา ถ้าเป็นห้องชุด หรือคอนโดมิเนียม ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร 

ส่วนกรณีเป็นที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรด้วย ก็ต้องมีพื้นที่ได้ไม่เกิน 10 ไร่ หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่น ที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตร ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่ 

เป็นเรื่องที่ปฏิเสธ ไม่ได้เช่นกันว่าที่ผ่านมานั้น การได้รับสิทธิบัตรคนจน ต่างมีผู้ที่ไม่สมควรจะได้เป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว ในรอบนี้… จึงมีการเพิ่มเกณฑ์ “รายได้ครัวเรือน” เข้ามาคัดกรองด้วย นอกเหนือไปจากเกณฑ์รายได้ส่วนบุคคล

ยกตัวอย่างให้เห็นง่าย ๆ บุคคลที่มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี  ก็ต้องมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อคนไม่เกิน 1 แสนบาทด้วยเช่นกัน โดยคิดจากการนำรายได้ของคนทั้งหมดในครอบครัว แล้วมาหารจำนวนสมาชิกในครัวเรือน 

หากครัวเรือนเฉลี่ยแล้วมีรายได้ต่อคนเกิน 1 แสนบาท ก็จะไม่ได้รับบัตรสวัสดิการทั้งหมด เช่น ถ้าครอบครัวมี สมาชิก 5 คน เป็นคนตกงานไม่มีรายได้ 2 คน อีก 3 คน มีรายได้คนละ 2 แสนบาทต่อปี เท่ากับว่า ครัวเรือนนั้นมีรายได้รวม 6 แสนบาท

เมื่อนำมาหารเฉลี่ยต่อคน เท่ากับครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยต่อคนละ 1.2 แสนบาท ซึ่งหมายความว่า… ครัวเรือนนั้น ย่อมไม่มีใครได้รับบัตรคนจน

แต่!! ถ้าหารเฉลี่ยแล้ว ครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยไม่ถึง 1 แสนบาท คนที่ตกงาน 2 คนจะได้รับสิทธิ แต่คนที่ทำงานมีรายได้เกิน 1 แสนบาททั้ง 3 คน จะไม่ได้รับสิทธิ

ส่วนสิทธิประโยชน์จะได้เหมือนเดิม หรือมีอะไรเพิ่ม อะไรลด เชื่อเถอะ!! หนีไม่พ้นเหมือนเดิมนั่นแหละ เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิต

ทั้งหมด…คงต้องมาลุ้นกันว่ารัฐบาลจะมีข่าวดีให้เมื่อไหร่?

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”