อาร์เซ็ป ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ร่วมกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565 โดยประเทศสมาชิกครองสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรและผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก

นายชินวุฒิ์ เตชานุวัตร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ของธนาคารไทยพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวซินหัว ว่าห่วงโซ่อุปทานข้ามพรมแดนในภูมิภาคจะเปรียบเสมือนห่วงโซ่อุปทานภายในกลุ่มประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นไปตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าของอาร์เซ็ป ดังนั้ นจึงมีส่วนช่วยส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการผลิต และการค้าภายในภูมิภาค

New China TV

มีการคาดการณ์ว่า อาร์เซ็ปจะยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรสำหรับสินค้ามากกว่าร้อยละ 90 โดยการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า อาร์เซ็ปจะกลายเป็น “จุดศูนย์ถ่วงของการค้าโลก” โดยคาดว่า การลดหย่อนภาษีของความตกลงนี้จะกระตุ้นการส่งออกภายในภูมิภาคได้ถึง 42,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.4 ล้านล้านบาท)

นายชินวุฒิ์กล่าวต่อไปว่า อาร์เซ็ปจะเสริมสร้างการบูรณาการห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาค พร้อมชี้ว่า ปัญหาคอขวดของห่วงโซ่อุปทานที่มักเกิดจากการขาดแคลนทรัพยากร หรือชิ้นส่วนต่าง ๆ รวมถึงระยะเวลาจัดส่งที่ยาวนานนั้น สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้จากการมีแหล่งผลิตในท้องถิ่น และการอำนวยความสะดวกทางการค้าข้ามพรมแดนที่ดีขึ้น

นอกจากนั้น ปริมาณการค้าในระดับสูงจะนำมาซึ่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในประเทศที่พัฒนาน้อยกว่า ที่ค่อนข้างขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน

นายชินวุฒิ์กล่าวเสริมอีกว่า อาร์เซ็ปจะช่วยส่งเสริมอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องกันมากขึ้นในยุคหลังการระบาดใหญ่ ซึ่งไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อการเติบโตทางการค้าและเศรษฐกิจ แต่ยังส่งเสริมความเท่าเทียมทางดิจิทัล และการแข่งขันที่เท่าเทียมกันมากขึ้น

ขณะเดียวกัน วิสาหกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงจากการระบาดใหญ่อาจกลับมาแข็งแกร่งขึ้น จากการที่สามารถเข้าถึงตลาดที่กว้างยิ่งขึ้นของอาร์เซ็ปได้ง่าย และสะดวกยิ่งขึ้น.

เลนซ์ซูม

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA