มีทั้ง “รู้สึกว่ายอมไม่ได้” และมีทั้ง “คิดไปเอง” แล้วนำสู่ “โศก นาฏกรรม”  ทำให้เกิด “ความสูญเสียอันน่าเศร้า” อย่างต่อเนื่อง…กับกรณี “พิษรักแรงหึง” ที่นำสู่การ “ใช้ความรุนแรง” ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เกิดกรณีครึกโครมขึ้นอีก โดยชายรายหนึ่งใช้อาวุธปืนยิงภรรยาเสียชีวิต…ก่อนที่ตนเองจะฆ่าตัวตายตาม เหตุเพราะฝ่ายชายระแวงว่าภรรยาจะปันใจให้ชายอื่น?!?!? ทั้งนี้ กับปมพิษรักแรงหึงที่นำไปสู่การ “ฆ่าเพราะรัก” นั้น ในสังคมไทยมีเกิดขึ้นครึกโครมมานานแล้ว…และยังคงเกิดเรื่อย ๆ…

ถือว่าเป็น “ความสูญเสียอันน่าเศร้าที่เกิดบ่อย

“ฆ่าเพราะรัก” กลายเป็น “ปรากฏการณ์น่าสลด”…

ที่ใน “ยุคโซเชียลมีเดีย” ดูจะ “ยิ่งเพิ่มชนวนเหตุ??”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับกรณีฆ่าเพราะรัก “หึงแล้วทำร้าย-หึงแล้วฆ่า” ที่ในยุคปัจจุบันก็ยังคงมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องนั้น กับเรื่องนี้ก็เคยมีมุมวิเคราะห์จากหัวหน้าสาขาจิตวิทยาคลินิก ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จาก ผศ.ดร.อรพิน สถิรมน ที่เคยสะท้อนถึงปรากฏการณ์นี้ผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ และตอนนี้ก็น่าพินิจกันอีกครั้ง ดังนี้คือ… สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับชีวิตผู้คนในปัจจุบันมีปัจจัยทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้น นี่อาจทำให้หลาย ๆ คน…

มีปัญหาสุขภาพจิตเกิดขึ้นได้ “โดยไม่รู้ตัว?!?!?

ทาง ผศ.ดร.อรพิน ระบุถึงปัญหาที่อาจซ่อนอยู่นี้ไว้ว่า… จะเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อคน ๆ นั้นถูกทำให้กระทบกระเทือนทางอารมณ์ ทางความรู้สึก ซึ่งอาจแสดงออกผ่าน การกระทำที่ขาดสติ-ขาดความยั้งคิด เนื่องจากไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ โดย ผู้ที่จะได้รับผลกระทบ หรือกลุ่มเสี่ยงที่มักจะตกเป็น ’เหยื่อ“ นั้น ส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้น “บุคคลใกล้ชิด” เช่น ครอบครัว คู่รัก แฟน เป็นต้นซึ่งมักเป็นกลุ่มที่บุคคลนั้น ๆ สามารถใช้ความรุนแรงได้อย่างสะดวกและโดยง่าย ๆ จน…

เป็นเหยื่ออารมณ์-ความรุนแรง “โดยไม่ทันตั้งตัว!!

สำหรับสาเหตุ-ประเด็นปุจฉาน่าพินิจ… เหตุใดจึงมีการ “หยุดพิษรักแรงหึงด้วยการฆ่า!!” กันมากขึ้น?? กรณีนี้ทาง ผศ.ดร.อรพิน ชี้ไว้ว่า… มีปัจจัยจาก 3 เรื่องหลัก ๆ คือ… 1.การเลี้ยงดู 2.สภาพแวดล้อมทางสังคม 3.ค่านิยม ทั้งนี้ จากหลายกรณีครึกโครมน่าเศร้าสลดที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อวิเคราะห์ถึง “แรงจูงใจ” ที่ทำให้ผู้ก่อเหตุตัดสินใจ “จบรักที่ไม่สมหวังด้วยความรุนแรง” ส่วนใหญ่นั้นจะพบข้อมูลปัจจัยคือ… มักจะถูกเลี้ยงดูหรือมีพื้นฐานมาจากการเติบโตขึ้นมาโดยเห็นเรื่องการใช้ความรุนแรงเป็นประจำ จนทำให้เกิดความรู้สึกที่ “ชาชิน-เคยชินกับการ “ใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหา” ที่เกิดขึ้น…

ปัจจัยการเลี้ยงดูนี้ นักวิชาการท่านเดิมชี้ไว้ว่า… การที่พ่อแม่ผู้ปกครองเลี้ยงดูลูกหลานแบบตามใจเกินไป รวมถึงการที่ไม่มีเวลาดูแลอบรมลูกหลาน ปล่อยให้เด็กต้องอยู่คนเดียวลำพังมาเป็นเวลานาน ทำให้เด็ก ขาดทักษะทางสังคม ซึ่งเมื่อเด็กเติบโตขึ้นก็อาจ ไม่สามารถรับรู้ได้ว่าควรตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตตนเองอย่างไร?? โดยเฉพาะช่วงที่ย่างเข้าสู่วัยรุ่น ที่มีเรื่อง “ความรัก” เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในชีวิต ทำให้ เมื่อพบความรักที่ไม่สมหวังหรือผิดหวังความรัก บางคนตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยวิธีที่รุนแรง อย่างการ ’ทำร้าย“ คนที่ตนรักไปจนถึงขั้นลงมือ’ฆ่า“ ซึ่งบางคนก็มีความคิดที่ว่า…

เพื่อไม่ให้ใครได้ครอบครองความรักไปแทนตน!!!

“หลายคนก็รู้ดีว่า…ความรุนแรงไม่ใช่วิธีแก้ เพราะท้ายที่สุดก็ไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการอยู่ดี ซ้ำยังแก้ปัญหาไม่ได้ และยังเพิ่มปัญหาชีวิตให้มากขึ้นไปอีก แต่เพราะคิดว่าไม่มีทางออก คิดว่าไม่มีทางเลือก ประกอบกับบางคนอาจมีอารมณ์โมโหรุนแรง หรือรักแรงหึงแรง ก็เลยเลือกทางออกนี้ในการตัดสินปัญหา” …ทาง ผศ.ดร.อรพิน สะท้อนไว้

ทั้งนี้ การจะแก้ไข-ป้องกันเรื่องร้ายเรื่องนี้ นักวิชาการสาขาจิตวิทยาชี้ผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ว่า… ทำได้ด้วยการเสริมสร้างวุฒิภาวะทางอารมณ์ โดย ระดับบุคคล อาจ “ฝึกควบคุมอารมณ์โดยเฉพาะยามโกรธ และต้อง “คิดก่อนทำให้มากขึ้น” เช่น คิดถึงผลกระทบที่ครอบครัวต้องได้รับจากการกระทำให้มาก ส่วน ระดับครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกหลาน ต้อง “ไม่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา” นอกจากนั้น ใน ระดับสังคม ก็ต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา ด้วยการ “สร้างสภาพแวดล้อมที่ไร้ความรุนแรงเช่น การไม่สร้างถ้อยคำหรือไม่แสดงพฤติกรรมที่รุนแรงผ่านสื่อต่าง ๆ…

และกับปัญหา “หึงมรณะ-ฆ่าเพราะรัก” ก็มีคำแนะนำฝ่ายที่อาจเสี่ยงเป็นเหยื่อ ไว้ว่า…หากจะจบความสัมพันธ์ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือต้องพยายามจบแบบด้วยดี เมื่อใครจะจบความสัมพันธ์กับใคร การบอกเลิกก็ต้องพูดอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช้ถ้อยคำรุนแรง ห้ามโทษฝ่ายตรงข้ามเด็ดขาด และก็ต้องไม่ทำให้ผู้ที่ถูกบอกเลิกยังมีความหวังด้วย อีกทั้ง ยุคโซเชียลเช่นนี้ เมื่อเลิกกันแล้ว ไปพบรักใหม่แล้ว ก็ไม่ควรโพสต์ให้คนเก่าเห็น เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดเหตุรุนแรงได้!!

ขณะที่กรณี เลิกกับคนที่มีประวัติใช้ความรุนแรง นอกจากต้องพยายามจบความสัมพันธ์แบบด้วยดีแล้ว ก็ ควรหลีกเลี่ยงการพบปะ ไม่พูดคุยผ่านโซเชียล และไม่ควรอยู่คนเดียวลำพัง ควรจะอยู่ในสถานที่ปลอดภัยเสมอ และมีคนที่ไว้ใจพึ่งพาได้อยู่เป็นเพื่อน จะดีที่สุด …นี่เป็นอีกส่วนจากคำแนะนำเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยง “เหตุร้ายแรงเพราะรัก!!

โศกนาฏกรรมรักทำลายชีวิต” ต้อง “เท่าทัน-กันไว้

ทั้งกับฝ่าย “เลิกรัก” และโดยเฉพาะฝ่ายที่ “ยังรัก”…

แม้…“ทำลายเพียงชีวิตตนเอง…ก็ไม่ควรทำ!!!“.