หลายๆ คนอาจจะเคยทราบกันมาบ้างอยู่แล้วว่า สังคมไทยนั้นกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งสิ่งที่หลายๆ คนมักจะต้องก้าวผ่าน หรือเคยได้ยินกันมาบ้างนั้นคือ “ภาวะวัยทอง” แต่เคยทราบกันบ้างหรือไม่ว่า.. มีสิ่งที่ “คนวัยทอง” ควร-ไม่ควรทำอยู่เหมือน..

โดย พญ.รัตนาภรณ์ ลีลาวิวัฒน์ สูตินรีแพทย์ชำนาญการด้านนรีเวช และรักษาอาการวัยทอง โรงพยาบาลสมิติเวช ได้เผยว่า สำหรับ “ภาวะวัยทอง” คือ ภาวะที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศได้น้อยลง ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง เสื่อมสภาพลง และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย เช่น โรคกระดูกพรุน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น  สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่มีอายุอยู่ในช่วง 45-55 ปี แต่ผู้หญิงจะแสดงอาการชัดเจนกว่า

สตรีวัยหมดประจำเดือน (Menopause) หรือ สตรีวัยทอง คือ ผู้หญิงที่สิ้นสุดการมีประจำเดือนอย่างถาวร เนื่องมาจากการที่รังไข่หยุดการสร้างฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ส่งผลให้เกิดอาการวัยทองต่างๆ เช่น  ร้อนวูบวาบ เหงื่อออก อารมณ์แปรปรวน รบกวนการนอนหลับ พลังงานลดลง รวมถึงร่างกายเริ่มมีการเสื่อมถอยลง น้ำหนักอาจเพิ่มขึ้นจากการที่ร่างกายมีการเผาผลาญน้อยลง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคสมองเสื่อมอีกด้วย

ซึ่งสตรีจะได้รับการวินิจฉัยว่าเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก็ต่อเมื่อประจำเดือนไม่มาต่อเนื่องครบ 1 ปีไปแล้ว ทั้งนี้ วัยหมดประจำเดือนสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 45-55 ปี โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 51 ปี นอกจากนี้ยังรวมถึงผู้หญิงที่ได้รับการผ่าตัดรังไข่ทั้ง 2 ข้างออกก่อนที่จะถึงวัยหมดประเดือน  

วัยหมดประจำเดือน แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

  1. วัยใกล้หมดประจำเดือน (Perimenopause) เป็นระยะเวลาที่รังไข่เริ่มทำงานไม่ปกติ จนหยุดทำหน้าที่ไปในที่สุด ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอจนสิ้นสุดการมีประจำเดือนอย่างถาวร ซึ่งมีระยะเวลาประมาณ 2-3 ปี บางกรณีอาจมีอาการทางร่างกายต่างๆ เช่น ร้อนวูบวาบ  เหงื่อออก คลื่นไส้ และอารมณ์แปรปรวน
  2. วัยหมดประจำเดือน (Menopause)นับจากการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายต่อเนื่องไปเป็นเวลา 1 ปี
  3. วัยหลังหมดประจำเดือน (Postmenopause) หลังจากวัยหมดประจำเดือนมาแล้ว 1 ปี ซึ่งเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงของสรีระและเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้

อาการวัยทองของสตรี
อาการของสตรีวัยทองอาจเกิดขึ้นในช่วงหลายเดือน หรือหลายปีก่อนจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนอย่างถาวร นั่นคือ ช่วงวัยใกล้หมดประจำเดือน (perimenopause) ซึ่งอาการแสดงทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของประจำเดือนอาจแตกต่างกันไป 

อาการวัยทอง แสดงระยะสั้น

  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ หากมีอาการเลือดออกจากช่องคลอดหลังวัยหมดประจำเดือน ควรรีบไปพบแพทย์
  • ช่องคลอดแห้ง
  • ร้อนวูบวาบ
  • เหงื่อออกตอนกลางคืน
  • นอนไม่หลับ หรือมีปัญหาในการนอน
  • อารมณ์แปรปรวน
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเผาผลาญน้อยลง
  • ผิวแห้ง ผมร่วง

อาการวัยทอง และความเสี่ยงในระยะยาว

  • โรคกระดูกพรุน การที่ร่างกายขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนนั้นทำให้กระดูกเปราะบาง เนื่องจากมีการสูญเสียความหนาแน่นของกระดูก ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่กระดูกจะหักได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกระดูกสันหลัง สะโพก และข้อมือ
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดจะเพิ่มขึ้น  เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนนั้นช่วยลดไขมันไม่ดีในเลือดได้ (LDL) ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดูแลตนเองโดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม ลดอาหารมันๆ งดของทอด เบเกอรี่ และรักษาน้ำหนักตัวให้เป็นปกติ รวมถึงขอคำแนะนำจากแพทย์เกี่ยวกับวิธีป้องกันโรคหัวใจ
  • การเปลี่ยนแปลงของระบบประสาทส่วนกลาง การตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นลดลง การเคลื่อนไหวช้าลง ความทรงจำอาจเสื่อมถอยลง
  • ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เนื่องจากเนื้อเยื่อของช่องคลอดและท่อปัสสาวะสูญเสียความยืดหยุ่น บางครั้งมีอาการปัสสาวะบ่อย รวมถึงการเพิ่มโอกาสติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะมากขึ้น
  • ช่องคลอดแห้ง เกิดการอักเสบของช่องคลอด มีอาการแสบและเจ็บในช่องคลอด
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้น เนื่องจากระบบเผาผลาญทำงานน้อยลง

การรักษาภาวะวัยทอง
การรักษาภาวะวัยทองที่มีประสิทธิภาพนั้นมีหลายวิธี ตั้งแต่การปรับวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดี การรักษาตามอาการ ตลอดไปจนถึงการบำบัดด้วยฮอร์โมน ดังนี้

  1. การใช้เจลหล่อลื่น ยาเม็ดสำหรับสอดช่องคลอด กรณีช่องคลอดแห้ง
  2. การใช้ยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการปวดต่างๆ เช่น ปวดข้อ ปวดศีรษะ
  3. การใช้ยาลดอาการซึมเศร้าขนาดต่ำ โดยให้ใช้ภายใต้ดุลพินิจของแพทย์
  4. การให้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy – HRT) เป็นการรักษาเพื่อช่วยปรับสมดุลระดับฮอร์โมนของร่างกาย โดยให้ระดับยาไม่สูง ในระยะเวลาที่ไม่นานเกินไป ยาที่ให้ประกอบด้วย  ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน โดยการให้ฮอร์โมนทดแทนมี 2 รูปแบบ ได้แก่
  • การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน กับ โปรเจสเตอโรน สำหรับผู้ที่ยังมีมดลูกอยู่
  • การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว สำหรับผู้ที่ไม่มีมดลูกแล้ว

ทั้งนี้ การบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทนนั้นมีอยู่หลายรูปแบบ ทั้งยาเม็ด หรือยาปรับฮอร์โมนวัยทอง แผ่นแปะผิวหนัง และเจลทาผิวหนังเฉพาะที่ ซึ่งสามารถช่วยลดอาการของวัยหมดประจำเดือนต่างๆ ได้ดี อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลพบว่าการใช้ฮอร์โมนบำบัดอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคบางอย่างได้ โดยเฉพาะผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ เช่น โรคลิ่มเลือดอุดตัน ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง โรคตับ และโรคมะเร็งเต้านม  อีกทั้งยังต้องระวังเรื่องมะเร็งในเยื่อบุโพรงมดลูกด้วย ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ควรทำ คือ การที่ต้องปรึกษา ทำการรักษา และตรวจติดตามกับแพทย์ผู้ชำนาญการเท่านั้น และทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ฮอร์โมนทดแทนที่อาจเกิดขึ้นได้

  1. ในกรณีกระดูกพรุน สามารถให้ยาที่รักษาโรคกระดูกพรุนโดยตรง ร่วมกับการรับประทานแคลเซียมและวิตามินดี
Asian elderly couple dancing together while listen to music in living room at home, sweet couple enjoy love moment while having fun when relaxed at home. Lifestyle senior family relax at home concept.

เคล็ดลับดูแลตัวเองของผู้ที่เข้าสู่วัยทอง

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ เนื้อปลา ผัก ผลไม้ และธัญพืช
  • ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร
  • เลิกสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง
  • จำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ฝึกการผ่อนคลายอารมณ์ ลดความเครียด และฝึกหายใจเข้าออกลึกๆ บ่อยๆ
  • ในกรณีไม่สามารถผ่อนคลายความเครียดด้วยตนเองได้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เรื่องความวิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน และ ปัญหาเพศสัมพันธ์ (ถ้ามี)
  • สร้างนิสัยการนอนที่ดี และพักผ่อนให้เพียงพอ
  • บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน และกระชับช่องคลอด (Kegel Exercises)
  • เข้าชมรม อาสาสมัคร หรือหางานอดิเรกใหม่ ๆ ทำ
  • ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน และคัดกรองเบื้องต้น ในระหว่างและหลังวัยหมดประจำเดือน เช่น ตรวจเลือด ตรวจความหนาแน่นของกระดูก ตรวจมะเร็งปากมดลูก ตรวจมะเร็งเต้านม เป็นต้น

แม้วัยทองจะเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของร่างกาย เป็นการก้าวผ่านจากวัยเจริญพันธ์เข้าสู่ช่วงสูงวัย จนส่งผลให้หลายคนกังวลใจ แต่การเอาใจใส่ดูแลสุขภาพให้เหมาะสมกับช่วงวัย รวมถึงหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงโรคแทรกซ้อนอันตรายต่างๆ การพบแพทย์เพื่อปรึกษาอาการวัยทองและรับการรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสม จะช่วยให้ผ่านช่วงวัยทอง ไปได้ด้วยสุขภาพที่แข็งแรงและปราศจากโรคภัย..

………………………………………
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”