นายยุน ซ็อก-ยอล ตัวแทนจากพรรคพลังประชาชน ( พีพีพี ) ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษนิยมของเกาหลีใต้ ชนะการเลือกตั้งผู้นำ เมื่อวันที่ 9 มี.ค. เตรียมเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้ ด้วยแนวนโยบายที่ค่อนข้างสายเป็นสายเหยี่ยว โดยเฉพาะในด้านต่างประเทศ แม้ในภาพรวมยังไม่น่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่หากมองลึกลงในรายละเอียดน่าจะเป็นการปรับความสมดุลครั้งใหญ่ กับจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐ ตลอดจนเกาหลีเหนือ

ทั้งนี้ ยุนกล่าวถึงการสั่งซื้อระบบป้องกันขีปนาวุธ “ทาด” เพิ่มเติมจากสหรัฐ แล้วนำมาติดตั้งในเกาหลีใต้ และความพยายามเข้าร่วมกติกาความร่วมมือ “ควอด” กับสหรัฐ ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น แน่นอนว่า ความเคลื่อนไหวเหล่านี้จะเป็นที่น่าพอใจสำหรับรัฐบาลวอชิงตันของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แต่ยกเว้นจีน ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมาก ว่าหากรัฐบาลเกาหลีใต้ดำเนินการเช่นนั้นจริง ต้องแลกด้วยมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจระลอกใหม่จากจีน

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน

ความรู้สึกของสาธารณชนชนในเกาหลีใต้ที่มีต่อจีน ในภาพรวมยังคงเป็นไปในด้านลบ เนื่องจากความขัดแย้งยืดเยื้อเรื่องระบบทาด และกรณีเรื่องเครื่องแต่งกายพื้นเมืองของนักแสดง ในพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ซึ่งกรุงปักกิ่งเป็นเจ้าภาพ เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา เรื่องเหล่านี้ยิ่งช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับนโยบายเรื่องจีนของยุนอย่างแน่นอน แล้วยังจะเชื่อมโยงต่อไปยังเรื่องเกาหลีเหนือด้วย ว่านโยบายเรื่องเกาหลีเหนือของยุน จะไม่มีทางเป็นสายพิราบ อย่างรัฐบาลของประธานาธิบดีมุน แจ-อิน กล่าวคือ ไม่มีทางที่เกาหลีใต้ภายใต้การบริหารของยุน จะเป็นผู้ปล่อยให้จีน “ถือไพ่เหนือกว่า” เรื่องเกาหลีเหนือ

ขณะเดียวกัน ยุนวิจารณ์นโยบายจีน-เกาหลีเหนือ ของรัฐบาลมุน ว่า “ไม่ทำอะไร” ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการไม่ซื้อระบบทาดเพิ่มเติม การไม่ยกระดับความพร้อมของเครือข่ายระบบขีปนาวุธที่มีอยู่ และการไม่เข้าร่วมพันธมิตรไตรภาคีทางทหาร กับสหรัฐและญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยุนประกาศชัดเจนด้วยว่า เกาหลีใต้ในยุคของเขา ต้องแสดงจุดยืนชัดเจนและจริงจัง ในการสนับสนุน “ความเป็นเสรีและเปิดกว้างของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก”

กองทัพสหรัฐลำเลียงระบบ “ทาด” มายังเกาหลีใต้ เมื่อเดือนมี.ค. 2560

ในขณะที่รัฐบาลของมุนพยายามรักษาสมดุลให้กับความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับสหรัฐ และระหว่างเกาหลีใต้กับจีน ยุนมีท่าทีชัดเจนมากกว่า ว่าจะเอนเอียงไปทางสหรัฐมากขึ้น และเกาหลีใต้จะเพิ่มบทบาทของตัวเองมากขึ้นอีก ในการเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ที่รัฐบาลวอชิงตันกำหนดเพื่อใช้คานอำนาจกับจีนโดยเฉพาะ แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ท่าทีดังกล่าวของยุนจะกลายเป็น การแบ่งภาพ “พื้นที่ยุทธศาสตร์การเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ” เป็น “จีนกับเกาหลีเหนือ” และ “เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐ”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ของกลุ่มควอด ยุนน่าจะดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้จีนมองว่า “เป็นการยั่วยุ” แม้มีสัญญาณว่า ผู้นำเกาหลีใต้คนใหม่ไม่มีความลังเลที่จะแสดงบทบาท และการมีส่วนร่วมมากขึ้นกับ “กิจกรรมของสหรัฐ” ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก แต่การดำเนินการย่อมต้องมี “ข้อจำกัด” โดยอย่าลืมว่า จีนเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ รัฐบาลโซลต้องตระหนักเรื่องนี้ และเดินเกมด้วยความระมัดระวัง

จีนเป็นประเทศซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก และอันดับหนึ่งของทวีปเอเชีย มีพลังและอิทธิพลทางเศรษฐกิจเหนือเกาหลีใต้อยู่หลายขุม ซึ่งนอกจากรัฐบาลของยุนยังไม่น่าเป็นฝ่ายสร้างแรงกดดันให้แก่จีนได้มากนักแล้ว รัฐบาลปักกิ่งต่างหากจะเป็น “ฝ่ายคุมเกม” อย่างไร อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลปักกิ่งผ่อนคลายแม้เพียงนิดเดียว เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ยุนทันที และจะกลายเป็นการเพิ่มความนิยมให้แก่อีกฝ่ายไปโดยปริยาย.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES