สังคมยังคงเฝ้าจับตา การแก้ปัญหาใหญ่ของ สถานปฏิบัติธรรม ชยันโตโพธิธรรมรังสี หรือ“ธรรมสถานวิโมกสิวาลัย” ตั้งอยู่เลขที่ 59/9 หมู่ 7 ถนนห้วยผาก-บ่อหวี ต.มะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ที่ตั้งของ มูลนิธิสิริสาโร หลวงพี่อุเทน เจ้าอาวาสวัดท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร บานปลายจาก รับบวชให้ “2 โยคี” ผู้ต้องหาจาก คดีดาราสาว แตงโม-นิดา พัชรวีระพงษ์ พลัดตกจากเรือสปีดโบ๊ตจมแม่น้ำเจ้าพระยาเสียชีวิต

จนทำให้ กรมธนารักษ์ และ กองพลพัฒนาที่ 1 ร่วมกันลงไปตรวจสอบพื้นที่ ทำให้เพบว่า ธรรมสถาน วิโมกสิวาลัย รุกยึดถือครอบครองอยู่ในพื้นที่ราชพัสดุ ประมาณ 38 ไร่ และยังไม่มีการอนุญาตให้ผู้ใดเช่าได้แต่อย่างใด เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ห้วงห้าม ตามพระราชกฤษฎีกาหวงห้ามที่ดิน เพื่อประโยชน์ในราชการทหาร พ.ศ.2481 โดย กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ฯ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่หวงห้าม เป็นแปลงหมายเลขที่ รบ.553 โดยมอบให้ กองทัพบก เป็นผู้ใช้ประโยชน์
จับตาให้เช่าย้อนหลังทำได้หรือไม่

ทีมข่าวเฉพาะกิจส่วนกลาง เดลินิวส์ ที่ตามเข้าไปเกาะติดปัญหาใน อ.สวนผึ้ง รอบนี้ยังคงมีโอกาสได้เจอทั้ง กลุ่มนายทหาร และ หน่วยงานเกี่ยวข้อง ที่เคยเข้าไปร่วมทำ “สวนผึ้งโมเดล” และทำคดีกลุ่มผู้บุกรุกที่ราชพัสดุ จำนวนมากมีบทสรุปคดีความผิดด้านอาญาและแพ่งแตกต่างกันไป อดีตนายทหาร ให้ความเห็นกรณีหากภาครัฐยินยอมให้สถานปฏิบัติธรรมฯที่บุกรุกเข้ามาตั้งแต่ปีพ.ศ.2551 ไปทำเรื่องดำเนินการเช่าย้อนหลังได้ โดยใช้กฎกระทรวง การจัดหาประโยชน์ พ.ศ.2564 ในการดำเนินการ จึงมีการตั้งคำถามติดตามมาทันทีว่าทำได้หรือไม่ พื้นที่อำเภอสวนผึ้ง เป็นพื้นที่เพื่อความมั่นคงเพราะอยู่แนวชายแดนและเป็นพื้นที่แปลงเดียวกับกาญจนบุรี ซึ่งสภาพพื้นที่ทั้ง แปลง รบ.553 กับ แปลง กจ.209 มีสภาพที่เหมือนกันคือถูกบุกรุกทั้งสิ้น

ก่อนหน้านี้รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยเล็งเห็นปัญหานี้ จึงมีการประชุม ครม.หารือเพื่อแก้ปัญหาบุกรุกที่ราชพัสดุด้วยการ ออกเป็น มติ ครม. เพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องนำไปแก้ไขปัญหา ทางสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ราชบุรีได้จัดโครงการรัฐเอื้อราษฎร์ขึ้นเพื่อรับรองสิทธิ์ให้แก่ผู้บุกรุกด้วยการจัดให้เช่าโดยออกเป็น ประกาศจังหวัดราชบุรี ในประกาศกำหนดเงื่อนไขไว้ 5 ข้อ โดยนำมาบูรณาการร่วมกับฝ่ายที่ใช้ประโยชน์ในพื้นราชพัสดุ ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน หากจะละเว้นให้เช่าได้โดยอาศัยกฎกระทรวง ปี 2564 แบบนี้ก็พังหมด ล้มเหลวหมด เพราะที่ผ่านมาฝ่ายทหารก็ยึดถือ ประกาศจังหวัดราชบุรี เป็นบรรทัดฐานมาตลอด
หากเป็นเช่นนั้นจริง ประชาชนที่ขอเช่าพื้นที่ราชพัสดุแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เช่าเพราะพื้นที่ขอเช่าไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามประกาศจังหวัดราชบุรี ดังนั้นต่อไป ประชาชนที่เคยขอเช่าและไม่ได้รับอนุญาตให้เช่า ก็ไปทำเรื่องขอเช่าใหม่ตามกฎกระทรวงที่ว่าหากไม่ได้รับอนุญาตก็ไปฟ้องศาลปกครอง 

ย้อนปูมหลัง “สวนผึ้งโมเดล” แก้รุกที่ราชพัสดุ

ยังยึด“สวนผึ้งโมเดล”ใช้แก้ปัญหา

อย่างไรก็ดีก่อนมี สวนผึ้งโมเดล ในส่วนของทาง กรมการทหารช่าง ได้รับการแบ่งมอบที่ราชพัสดุ ในอ.สวนผึ้ง และ อ.จอมบึง (บางส่วน) จาก มณฑลทหารบกที่ 16 จำนวน 239,000 ไร่ มีการส่งคืนให้ กรมธนารักษ์ 36,725 ไร่ เหลือพื้นที่จากการส่งคืน 202,275 ไร่ ต่อมาตั้งแต่ปี 2552  เริ่มต้นการใช้สวนผึ้งโมเดล  จากพื้นที่ 202,275 ไร่ พบว่า มีพื้นที่ทางกายภาพ ที่มีการสำรวจครอบครองของประชาชน จำนวน 757 แปลง เนื้อที่ประมาณ 17,400 ไร่ มีประชาชนบุกรุก จำนวน 1,065 ราย เนื้อที่ประมาณ 32,786 ไร่ ส่วนราชการขอใช้ 513 ไร่  ส่งผลให้มีประชาชนไปดำเนินการขอเช่า 852 ราย เนื้อที่ 13,795 ไร่ เป็นขอเช่าเพื่อการเกษตร จำนวน 829 ราย เนื้อที่ 13,525 ไร่ เช่าเพื่อที่พักตากอากาศ จำนวน 23 ราย เนื้อที่ 270 ไร่

ในช่วงปี พ.ศ. 2552 – 2562 สามารถสรุปผลการแก้ไขปัญหาที่ราชพัสดุ โดยการนำ สวนผึ้งโมเดล มาใช้ ในพื้นที่ อ.สวนผึ้ง แก้ไขปัญหาโดยให้ความยินยอม สำหรับ ผู้บุกรุก ที่ต้องการเช่าที่ราชพัสดุต่อธนารักษ์พื้นที่ราชบุรี 852 ราย เนื้อที่ 13,795 ไร่  แก้ไขปัญหาโดยการให้ไปพิสูจน์สิทธิ์ จำนวน 100 ราย เนื้อที่ 1,865 ไร่ แก้ไขปัญหาโดยเจรจาคืนพื้นที่ 11 ราย เนื้อที่ 1,879 ไร่ แก้ไขปัญหาด้วยการดำเนินคดี 66 ราย เนื้อที่ 10,319 ไร่ มีผู้ละทิ้งพื้นที่ 36 ราย เนื้อที่ 5,198 ไร่ส่งผลให้ มีพื้นที่ไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้อีก ( พื้นที่ยินยอมให้ผู้บุกรุกเช่า ) จำนวน 13,795 ไร่ พื้นที่ที่ยังไม่สามารถเข้าใช้พื้นที่หรือยังไม่ได้พื้นที่คืนจนกว่ากระบวนการพิสูจน์สิทธิ์จะเสร็จสิ้น  จำนวน 1,865 ไร่ พื้นที่ที่ได้คืนและเข้าใช้ประโยชน์โดยไม่มีปัญหา จำนวน 17,396 ไร่

ดังนั้น จากสวนผึ้งโมเดล กรมการทหารช่าง ที่รับผิดชอบดูแลและใช้ประโยชน์ สามารถใช้ประโยชน์โดยไม่มีปัญหา มีเนื้อที่ 186,102 ไร่ ซึ่งได้ดำเนินการฟื้นฟูสภาพป่า และขออออก หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) แล้ว จำนวน 7 แปลง เนื้อที่ 763 ไร่ และอยู่ระหว่างการจัดสรรงบประมาณ อีกจำนวน 4 แปลง เนื้อที่  1,027 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ล่อแหลมที่อาจจะมีการกลับเข้าไปบุกรุกได้อีก จึงจำเป็น ต้องออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ( น.ส.ล. )
ทำผิดในที่ราชพัสดุโทษทั้งอาญา-แพ่ง

บุกรุกที่ราชพัสดุสวนผึ้ง ปัญหาที่แก้ไม่จบสิ้น(1)

มีบทเรียนคดีในช่วงปี 2559 กองทัพบก ได้จับกุมดำเนินคดีกับ ผู้นำท้องถิ่น แห่งหนึ่ง เป็น จำเลยที่ 1 พร้อมพวกอีก 5 คน ในคดีหมายเลขดำที่ 758/2560  คดีหมายเลขแดงที่ 2442/2560 ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด, ร่วมกันบุกรุกแผ้วถางป่าหรือเผาป่าหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าหรือเข้ายึดถือครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ กรณีมีการนำเครื่องจักรไป “ขุดสระน้ำแห่งใหม่” ในป่าซึ่งเป็นพื้นที่ราชพัสดุ โดยไม่ได้มีการขออนุญาต

ขณะเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ พบ จำเลยที่1 อยู่ในพื้นที่ด้วยและยอมรับว่า ได้ขุดสระน้ำแห่งใหม่จริงแต่จะทำหนังสือขอใช้พื้นที่ย้อนหลังต่อกรมการทหารช่าง แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ และอ้างว่าเป็นโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูสระน้ำสาธารณะ ประเภทขุดลอกสระเก็บน้ำสาธารณะเดิมที่มีอยู่แล้ว จำนวน 4 โครงการ ที่มีการของบประมาณจากสำนักงานทรัพยากรน้ำ ภาค 7 ต่อมาศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาว่า จำเลยที่ 1มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบ มาตรา 336 ทวิ ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9,108 ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 52,72 ตรีประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83  จำเลยที่ 3 และ จำเลยที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ 83 

การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ 83 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี จำคุก จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 5 มีกำหนด คนละ 2 ปี  ให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และ จำเลยที่ 5 ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาดินลูกรังเป็นเงิน 967,150 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย และให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และ จำเลยที่ 5 และคนงานผู้รับจ้างผู้แทน และบริวารออกจากที่ดินราชพัสดุ ซึ่งเข้าไปยึดถือครอบครองในคดีนี้ ยกฟ้องโจทย์สำหรับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4  ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น  และต่อมาจำเลยยื่นฎีกา ให้ศาลบรรเทาโทษ  ศาลฎีกาจึงมีคำพิพากษา เห็นว่าจำเลยได้รับโทษมาแล้วพอสมควร จึงพิจารณาให้โทษที่เหลือ รอลงอาญา มีกำหนด 2 ปี

หวั่นกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่

ทัศน์พล ผลถาวร (ทัศน์พล คนพิทักษ์ป่า)

ด้านนายทัศน์พล ผลถาวร หรือ ทัศน์พล คนพิทักษ์ป่า เป็น1ในกลุ่มชาวบ้านที่ออกมารณรงค์ดูแลพื้นที่ป่าสวนผึ้ง รวมกลุ่มกันออกมาช่วยภาครัฐสละแรงกายในการ ออกทำแนวป้องกันไฟป่าในเขตอำเภอสวนผึ้ง มานานกว่า 10 ปี ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวเดลินิวส์ ว่า กรณีที่ภาครัฐหวั่นเกนงหากจะดำเนินคดีสำนักปฏิบัติธรรมฯผลกระทบก็จะลุกลามไปถึงชาวบ้านที่ใช้พื้นที่ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาการเริ่มต้น สำนักสงฆ์ ทั้งหลายมักจะเริ่มจากการชักนำของ ผู้ที่มีอำนาจในท้องถิ่น ที่หมายตาในพื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจะพึ่งพิงข้อปฏิบัติและข้อกำหนดต่างๆของสำนักพุทธและธนารักษ์ ที่จะทำให้ง่ายต่อการตั้งสำนักสงฆ์ต่างๆ โดยจะมีผู้มีอำนาจในแต่ละท้องถิ่น รับดำเนินการยื่นขอเช่าพื้นที่ให้ หลังจากนั้นพื้นที่จะเริ่มขยับขยายออกไปแทบไม่มีที่สิ้นสุด จะหยุดได้ก็แค่ขอบถนน ไม่เว้นแม้แต่ลำห้วย

เมื่อมีการตรวจสอบพื้นที่จากหน่วยงานรัฐก็จะได้รับคำตอบคล้ายๆกันว่า “เดินเป็นที่ของคนนั้น-คนนี้ ตอนนี้ถวายให้สำนักสงฆ์ (ขาย ) กำลังทำเรื่องเช่าอยู่” และถ้ายิ่งมีผู้ที่มีอำนาจชักนำสำนักสงฆ์ต่างๆเข้ามายืนเป็นกำแพงให้ ชาวบ้านจะไปตรวจสอบยากขึ้น นานวันเข้าพื้นที่ก็จะแผ่ขยายอาณาบริเวณมากขึ้น และถ้าจะให้พื้นที่ดังกล่าวรอดพ้นการถูกดำเนินคดีในกรณีบุกรุกพื้นที่ก็แค่ปล่อยให้ชาวบ้านมาเช่าพื้นที่ทำกิน อยู่อาศัย เปรียบเสมือนให้“ชาวบ้านเป็นตัวประกัน” ปัจจุบัน พื้นที่ต่างมีราคาค่างวดไร่ละเป็นล้านบาท ทั้งๆที่เป็นที่ดินราชพัสดุของหลวง ไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ แต่ก็มีผู้คนมากมายทั้งคนใหญ่คนโต คนกำลังจะโตแทบทุกสาขาอาชีพเข้าครอบครองอยู่มิใช่น้อยเลย หากให้โอกาสสำนักปฏิบัติธรรม ไปทำเรื่องขอเช่าใหม่ และจ่ายค่าเช่าย้อนหลังที่ยาวนานกว่า 10 ปีนั้น

นอกจากจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่แล้วยังเหมือนจะชี้ช่องให้กระทำลักษณะนี้ได้ ใช้หรือไม่ ?

ทีมข่าวเฉพาะกิจ : รายงาน