“นกกระสาคอขาว” เชื่อว่าหลายคนคงไม่คุ้นชื่อนี้ หรือ ไม่เคยรู้จักมาก่อน วันนี้ โครงการรักษ์กระสาจะพาไปรู้จักเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้นเดิมประเทศไทยของเรา มีนกในวงศ์นกกระสา (Family Ciconiidae) ประมาณ 10 ชนิดใน 5 สกุล (Genus) ซึ่งทั้งหมดถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ในจำนวนนี้สูญพันธุ์ไปแล้วจากธรรมชาติของประเทศไทย (Extirpated in Thailand) 2 ชนิด คือ นกกระสาคอดำ และนกตะกราม ส่วนนกกระสาคอขาวที่เป็นตัวละครหลักที่เราจะมาเล่าให้ฟังในครั้งนี้กับผองเพื่อนกระสาอีกบางชนิด เช่น นกกระสาปากเหลือง กับ นกกระสาคอขาวปากแดง กำลังมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุดในกลุ่มนกกระสาที่ยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบันและมีสถานภาพที่ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติตามประกาศของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ONEP) และสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST) รวมถึงมีแนวโน้มการลดลงหรือสูญพันธุ์ ของประชากรอย่างต่อเนื่องในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่านกกระสาคอขาวในธรรมชาติของประเทศไทยเหลือเพียง 2-4 ตัวเท่านั้น และไม่มีรายงานการทำรังวางไข่ในธรรมชาติของประเทศไทย ตลอดช่วง 20 ถึง 30 ปีที่ผ่านมา

นกกระสาคอขาว ชื่อภาษาอังกฤษคือ “Asian Wooyneck” หรือ “Woolly-necked Stork” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Ciconia episcopus” ถึงแม้จะถูกเรียกว่า “นกกระสาคอขาว” แต่ไม่ได้มีสีขาวเฉพาะแค่ที่คอ แต่จะมีขนสีขาวที่ท้องและก้นด้วย ลักษณะเด่นชัดคือมีขนคอเป็นปุยสีขาว ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “woolly” ลักษณะสำคัญอื่น ๆ ของนกกระสาคอขาวที่มีเช่นเดียวกับนกกระสาอื่น ๆ คือ มีขายาว สีออกส้มแดง จะงอยปากยาวสีดำ ปลายปากสีน้ำตาลแดงคอยาว มีวงปีกกว้าง เวลาบินขาจะเหยียดตรงไปทางด้านท้าย เมื่อยืนจะสูงประมาณ 86-95 เซนติเมตร หน้าผากและขนที่หัวมีสีดำ ขอบบนหนังตาสีเหลือง กินแมลง กุ้ง หอย ปู ปลา กบ เขียด กิ้งก่า สัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กต่าง ๆ ที่พบในพื้นที่อาศัยที่ค่อนข้างหลากหลายเป็นอาหาร

นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (รวมถึงมหาวิทยาลัยบูรพา และมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก) ได้ดำเนินโครงการวิจัย “การฟื้นฟูพฤติกรรมนกกระสาคอขาวและการทดลองปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ” ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียวอย่างเงียบ ๆ มานานหลายปี ซึ่งต่อมาได้ทำการทดลองปล่อยนกกระสาคอขาวที่ขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนได้ในสภาพการเพาะเลี้ยงและผ่านการฟื้นฟูพฤติกรรมคืนสู่ธรรมชาติ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์ หนึ่งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์มรดกโลก ดินแดนแห่ง “เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม เลิศล้ำเมืองกีฬา” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยา ศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และบริษัทแปซิฟิค เฮลธ์ แคร์ จำกัด เพื่อให้นกกระสาคอขาวที่เป็นนกกระสาขนาดกลางที่แทบไม่พบแล้วในธรรมชาติของประเทศไทยได้ฟื้นฟูประชากรขึ้นได้ใหม่อีกครั้ง ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้สวนสัตว์เปิดเขาเขียว องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย มีการใช้กระบวนการศึกษาวิจัยและใช้เวลานานหลายสิบปีจึงประสบความสำเร็จในการขยายพันธุ์นกกระสาคอขาวจากจำนวนไม่กี่ตัว จนมีฐานประชากรนกกระสาคอขาวที่มั่นคง มีจำนวนมากพอและมีองค์ความรู้ที่จะจัดทำโครงการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อกู้วิกฤติก่อนการสูญพันธุ์ครั้งนี้ รวมถึงคืนความสมดุลสู่ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ และสร้างต้นทุนให้กับพื้นที่ธรรมชาติที่ทำการปล่อยสำหรับสรรพชีวิตต่าง ๆ

พื้นที่ป่าอนุรักษ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จังหวัดบุรีรัมย์ ถือเป็นบ้านแห่งใหม่ให้กับนกจำนวน 14 ตัวนี้มีนกเพศผู้ 2 ตัว รับบทนำเครื่องระบุพิกัดตำแหน่ง GPS ขนาดเล็กติดตัวไปด้วย และแล้วในวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เหล่านกกระสาคอขาวทั้ง 14 ตัว ที่กล้าแกร่งมากเพียงพอแล้วจึงได้เริ่มออกโบยบินสู่ธรรมชาติอันกว้างใหญ่เป็นครั้งแรกของชีวิต ถึงตอนนี้แม้จะเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นในการออกเดินทางอันแสนยาวไกลของเหล่านกกระสาคอขาว แต่ทีมงานวิจัยจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียวและพันธมิตรกลุ่มเล็ก ๆ นี้ก็หวังว่าคนไทยทุกท่าน จะช่วยกันส่งกำลังใจให้กับนกกระสาคอขาวตัวน้อย ที่เป็นกลุ่มตัวแทนของพี่น้องนกกระสาคอขาวอีกหลายสิบชีวิตที่กำลังอยู่ระหว่างการฝึกฝนทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตอย่างขะมักเขม้น ในการเข้าต่อสู้กับวิกฤติได้รับโอกาสในการอยู่รอด มีการแพร่กระจายตั้งต้นเผ่าพันธุ์ใหม่ในบ้านตามธรรมชาติของพวกเค้าได้อีกครั้ง และขอให้คนไทยทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างสังคมที่เติบโตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นของปวงชนชาวไทยสืบต่อไป.

สมชาย/อธิวัฒน์ เพ็ชรรัตน์