เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่รัฐสภา นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ… ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุม กมธ.วิสามัญฯ ว่า วันนี้เป็นการพิจารณากฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งยังเหลืออีกหลายมาตรา โดยวันนี้คงจะพิจารณากันเต็มที่ จะพยายามให้เสร็จโดยเร็ว ส่วนวันที่ 12 พ.ค. จะเป็นการพิจารณากฎหมายเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือ เรื่องวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือที่บางคนใช้คำว่า ส.ส.พึงมี แต่ทั้งหมดขึ้นต้องอยู่กับการแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาที่ต้องยึดโยงมาตรา 91 ว่าที่แก้มามีหลักการอย่างไร ส่วนประเด็นความเห็นต่างก็เป็นสิทธิของ กมธ.วิสามัญฯ ที่จะสงวนความเห็น หรือยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ แต่ใน กมธ.วิสามัญฯ มีความชัดเจนอยู่แล้วว่า การพิจารณาวิธีการคำนวณต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไขมาแล้ว น่าจะเป็นการคำนวณโดยเป็นไปตามสัดส่วนที่สัมพันธ์กันกับพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งในจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน คือการเอา 100 ไปหาร

เมื่อถามว่า ตอนนี้ยังมีการถกเถียงกันเรื่องหาร 100 หรือ 500 จะทำให้ต้องขยายกรอบเวลาหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือในส่วนของความเห็นที่ใครจะมีความเห็นอย่างไรก็ได้ แต่ในส่วนของการร่างกฎหมายต้องเป็นไปตามหลักการและเป็นไปในแนวทางกฎหมาย รวมถึงระเบียบข้อบังคับของรัฐสภา โดยต้องแก้ไขไปตามหลักการ และร่างที่ขอแก้จะต้องเป็นไปตามหลักใหญ่คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาแล้ว ทั้งนี้ ตนจะพยายามพิจารณาประเด็นหาร 100 หรือ 500 ให้จบภายในวันที่ 12 พ.ค.นี้ เพราะเรามีข้อตกลงกันแล้วว่าการโหวตไม่ต้องนัดล่วงหน้า เพื่อให้การพิจารณาเสร็จตามเป้าหมายตามที่กำหนดไว้คือ วันที่ 22 พ.ค. เราจะเดินหน้าทำให้กฎหมายเสร็จโดยเร็ว เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญของสถานการณ์และนายกรัฐมนตรีว่าไม่ว่าจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองหรือไม่หรืออยู่จนครบวาระ หากผ่านวาระ 3 กฎหมายสองฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้ประชาชนตัดสินในการเลือกตั้งครั้งหน้า

เมื่อถามว่า มี กมธ.วิสามัญฯ บางคนเห็นว่าการหารด้วย 100 อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะแก้ไขแค่มาตรา 91 นายสาธิต กล่าวว่า เป็นอีกความเห็นหนึ่ง สำหรับการแก้ไขมาตราเดียวนั้นต้องยอมรับว่าเป็นความบกพร่องของ กมธ.วิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญ บางส่วนแก้ไขไม่ครบถ้วน แต่ไม่เป็นเหตุจนถึงต้องไปเปลี่ยนสัดส่วนในการคำนวณ เพราะคำพูดในการแก้ไขมีความชัดเจนแล้ว

เมื่อถามว่า ในอนาคตหากมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายลูกฉบับนี้จนกระทบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องเริ่มกระบวนการแก้ไขใหม่หรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า เป็นเรื่องของอนาคตที่จะต้องไปติดตามว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีความเห็นอย่างไร จะรับไว้พิจารณาหรือไม่ แต่ในขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมามีการนำร่างที่แก้ไขเสร็จแล้วส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งขั้นตอนนั้นเป็นสิ่งที่บอกว่าเมื่อผ่านมาแล้วไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่พอมายื่นใหม่จะมีปัญหาก็จะต้องมีเหตุผลที่ต้องแสดงออกว่าปัญหาไม่ตรงกับครั้งแรกตอนไหน