วันที่ 29 ก.ค. ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร เผยถึงความเป็นไปได้ที่กรุงเทพมหานครจะจัดซื้อวัคซีนเอง โดยตอนนี้ทางสาธารณสุขแบ่งวัคซีนเป็น 2 กลุ่มคือ วัคซีนที่รัฐจัดหาและวัคซีนทางเลือก ทางกรุงเทพมหานครเองมีความพร้อมและได้จัดซื้อวัคซีนทางเลือกแล้วบางส่วน อย่างซิโนฟาร์มใช้ในการฉีดในกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงและอยู่ระหว่างการพูดคุยในเรื่องการจัดซื้อโมเดอร์นาในลำดับถัดไป ส่วนการกระจายวัคซีนนั้นตอนนี้คงไม่มีการปรับแผน

ทั้งนี้ ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ถือว่าค่อนข้างวิกฤติตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. โดยในช่วง 1-2 วันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละ 3,000 กว่าราย ทาง กทม.พยายามกดตัวเลขผู้ติดเชื้อให้ได้มากที่สุด โดยมาตรการล็อกดาวน์ยังถือว่ามีความจำเป็นตามหลักวิชาการและหลักการแพทย์ เพื่อลดการเคลื่อนที่ของประชาชน ลดการติดเชื้อ ทั้งนี้ กทม.มีศูนย์พักคอย 59 ศูนย์ เปิดให้บริการแล้ว 30-40 ศูนย์ ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาล จาก 100 กว่าเตียง เป็น 3,000 กว่าเตียง ยังไม่รวมโรงพยาบาลสนามและฮอสพิเทลอีกหลายพันเตียง นอกจากนี้ ยังมีการทำ Community Isolation ดูแลในระบบชุมชนให้กับผู้ที่ติดเชื้อ สำหรับผู้ที่ไม่สามารถทำการกักตัวที่บ้านได้ เพื่อให้อยู่ใกล้ชิดแพทย์และจะได้รับการรักษา รวมถึงกลุ่มอาการรุนแรงที่ต้องได้รับการรักษาระดับปฐมภูมิโดยเร็วที่สุด

ส่วนการดูแลแคมป์คนงานแม้จะสิ้นสุดมาตรการปิดแคมป์ไปแล้ว จะต้องมีมาตรการ Bubble and Seal เช่นเดิม ลดการให้คนงานออกไปสัมผัสกับคนภายนอกเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดมากขึ้น หากเกิดการระบาดก็ต้องหารือ ศบค.เพื่อออกมาตรการในภาพรวม ส่วนการฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง ไล่ตามลำดับคือ บุคลากรทางการแพทย์ มูลนิธิ พระ และสัปเหร่อ ซึ่งบางส่วนได้ฉีดแล้ว กทม.พยายามประชาสัมพันธ์ และวันที่ 30 กรกฎาคมนี้ ทาง กทม.จะเริ่มเข้าไปประชาสัมพันธ์เพื่อเข้าไปฉีดวัคซีนให้ได้ 221 วัด และเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ถัดไป ซึ่งไม่ใช่แค่สัปเหร่อ แต่เป็นทุกคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเผาศพรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมในศาสนาอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ยังพยายามประชาสัมพันธ์ไปยังวัดต่างๆ กรณีการเผาศพผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งขณะนี้วัดส่วนใหญ่ค่อนข้างเข้าใจ และพร้อมที่จะดำเนินการเผาศพ

ทั้งนี้ขอยืนยันว่ากรุงเทพมหานครกับสาธารณสุขนั้นทำงานร่วมกันมาตลอด กรณีที่มีข่าวทะเลาะนั้น ขอชี้แจงว่ากรุงเทพมหานครได้รับการจัดสรรวัคซีนแอสตราเซเนกาในระบบหมอพร้อม 1.2 ล้านโด๊ส เป็นกระบวนการที่ทำร่วมกับสาธารณสุข โดยมียอดลงทะเบียนของ 2 หน่วยงานในจำนวนนี้กว่า 30,000 โด๊ส ใช้ในการฉีดผู้ป่วยติดเตียง ติดบ้าน และได้รับวัคซีนจากโครงการไทยร่วมใจเพียง 680,000 โด๊ส และใน 1-2 วันนี้ จะมีการตัดวัคซีนไปฉีดผู้ป่วยในชุมชนอีกประมาณ 30,000 โด๊ส ตรงนี้เป็นตัวเลขทั้งหมดที่ได้รับและได้รับจากโครงการไทยร่วมใจอยู่ที่ 680,000 โด๊ส ซึ่งทุกครั้งที่จะนำวัคซีนจากโครงการไทยร่วมใจไปใช้จะต้องมีการขอมติจาก ศบค.ด้วยว่าจะให้ฉีดเท่าไร