เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ จากพรรคภูมิใจไทย นายสุนทร วิลาวัลย์ บิดา ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปราจีนบุรี และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องรวม 10 คน ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐออกโฉนดที่ดินบุกรุกป่าเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พื้นที่ จ.ปราจีนบุรี นั้น และมีรายงานว่า ในส่วนของคดีการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ สำหรับการออกโฉนดที่ดินในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ คดีความจะหมดอายุในวันที่ 13 มิ.ย.65 ซึ่งในเวลานี้ นายสุนทรยังไม่ได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการเพื่อมอบตัวแต่อย่างใด

ทางด้าน พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการศูนย์การประสานการปฏิบัติ (ศปป.) ที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในฐานะชุดจับกุมดำเนินคดีนายสุนทรและนางกนกวรรณ ว่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ต้องเข้าใจว่า คดีแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ เรื่องของการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ ซึ่งมีการตรวจสอบเจอว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวนั้นออกเป็นโฉนดเมื่อปี 45 โดยเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน เมื่อเข้าไปดูในรายละเอียดพบว่า การออกโฉนดดังกล่าวเป็นที่ดินมือแรก มีนายสุนทร และนางกนกวรรณ เป็นผู้เดินนำชี้ พร้อมกับเจ้าหน้าที่กรมที่ดินด้วย ซึ่งคดีการออกเอกสารสิทธิที่ดินโดยมิชอบนั้นเป็นคดีอาญา

สำหรับประเทศไทยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 เป็นบทกำหนดอายุ ความของความผิดอาญาทุกฐาน โดยกำหนดให้เริ่มนับอายุความในคดีอาญานับแต่วันที่กระทำความผิด และกำหนดอายุความสูงสุด 20 ปี เมื่อไปดูรายละเอียดอีก พบว่าการออกโฉนดดังกล่าวทำเมื่อปี 45 ถึงเวลานี้ปี 65 ครบ 20 ปีแล้วพอดี

“อย่างไรก็ตาม ถึงแม้คดีจะหมดอายุความในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ แต่ไม่มีปัญหาเรื่องการเอาผิด เพราะเวลานี้ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งนอกจากเจ้าของที่ ผู้นำชี้การรังวัดที่ดิน รวมไปถึงเจ้าหน้าที่กรมที่ดินต้องมีความผิดด้วย” พ.อ.พงษ์เพชร กล่าว

ขณะที่นายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปัจจุบันเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่าตำรวจหมายถึงคดีอื่นหรือเปล่าที่จะหมดอาุยุความ แต่สำหรับคดีนักการเมืองที่ ป.ป.ช.รับเรื่องและดำเนินการ คดีจะไม่มีอายุความ

ส่วนนายนิพนธ์ จันทเวช เลขาธิการสภาทนายความ ในฐานะโฆษกสภาทนายความฯ เปิดเผยว่าตามกฎหมายการดำเนินคดีต้องได้ตัวผู้ต้องหามาก่อนอายุความจะหมดสิ้น ซึ่งการที่ผู้ต้องหาจะมอบตัวเองหลังจบหมดสิ้นอายุความ ก็ไม่สามารถดำเนินขั้นตอนสอบสวนว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ คือไม่ได้เป็นผู้ต้องหาแล้ว ไม่อาจไปจับกุมหรือนำตัวส่งฟ้องได้  ทางเดียวที่จะทำได้คือให้ตำรวจหรือหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมาย รีบหาตัวผู้ต้องหามาส่งฟ้องก่อนคดีหมดอายุความ