เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรับแจ้งจากกลุ่มคนดูนกถ่ายภาพสัตว์ป่าในธรรมชาติว่า ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีโอกาสได้ถ่ายภาพนกเงือกกรามช้างปากเรียบอย่างใกล้ชิดอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน โดยเฉพาะพื้นที่ป่าสวนยางพาราของชาวบ้านในเขตบ้านช้อนทอง หมู่ 9 ต. อ.นาทวี จ.สงขลา มีนกเงือกกรามช้างปากเรียบที่อพยพมาจากที่อื่น แวะพักนอนที่ต้นสะเดาเทียม เป็นจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวร่วมกับช่างภาพเดินทางไปจุดที่พบนกเงือกกรามช้างนอน พักที่บ้านช้อนทอง พบว่าช่วงเย็นของทุกวันจะมีนกเงือกกรามช้างประมาณ 300 ตัว บินว่อนในหมู่บ้านและจะลงเกาะพักที่ยอดต้นสะเดาเทียม โดยผู้นำท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ป่าไม้จากเขตรักษาพันธูุสัตว์ป่าเขาน้ำค้าง ร่วมกับชาวบ้านคอยดูแลความปลอดภัย ไม่ให้ใครรบกวนนกเงือกอย่างเด็ดขาด และพบว่าเมื่อถึงช่วงเวลาที่นกเงือกกรามช้างปากเรียบอพยพได้แวะพักอยู่ในหมู่บ้านประมาณ 3 เดือนของทุกปี ทำให้ผู้คนที่สนใจทราบข่าว เดินทางมาส่องดูและถ่ายภาพกันเป็นจำนวนมาก และยังมีนักท่องเที่ยวบางกลุ่มยังได้พักอยู่ตามรีสอร์ทในพื้นที่ เพื่อที่จะรอดูนกเงือกกรามช้างปากเรียบที่บินกลับจากที่ได้ออกไปหากินมาพักในช่วงเย็นของทุกวัน

ส่วนพื้นที่อื่นๆก็มีแจ้งว่าพบนกเงือกกรามช้างปากเรียบรวมตัวและแวะพักตามป่าใกล้หมู่บ้านอีกหลายจุด นอกจากที่บ้านช้อนทอง อ.นาทวี จ.สงขลา แล้ว มีชาวบ้านพบที่อุทยานแห่งชาติสันกาลาคีรี จังหวัดสงขลา ที่ป่าเชิงเขาบรรทัดจังหวัดพัทลุง ป่าใกล้อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำไสเขตรอยต่อจังหวัดพัทลุง-นครศรีธรรมราช อุทยานแห่งชาติศรีพังงา จังหวัดพังงา ที่ป่าใกล้หมู่บ้านที่อำเภอคระบุรี จังหวัดระนอง และอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง จังหวัดสุราษฏร์ธานี ก็มีนกเงือกกรามช้างปากเรียบแวะนอนพักเป็นจำนวนมากเช่นกัน

นายปรีดา เทียนส่งรัศมี หัวหน้าโครงการคุ้มครองนกเงือกส่วนภาคใต้ ได้เดินทางไปร่วมสังเกตการณ์การอพยพของฝูงนกเงือกกรามช้างปากเรียบที่บ้าน ช้อนทอง อ.นาทวี จังหวัดสงขลาร่วมกับชาวบ้านและกลุ่มช่างภาพ กล่าวว่า นกเงือกกรามช้างปากเรียบเป็นหนึ่งในจำนวนนกเงือก 13 ชนิดที่พบในเมืองไทย และเป็นนกเงือก 2 ชนิดที่มีการอพยพเมื่อถึงช่วงเวลา นกจากนกเงือกกรามช้างปากเรียบจะอพยพแล้วก็มีนกเงือกกรามช้างอีกชนิดที่มีการอพยพด้วย ส่วนชนิดอื่นๆเป็นนกเงือกประจำถิ่นอยู่อาศัยกระจายไปทั่วประเทศ

สำหรับนกเงือกกรามช้างปากเรียบที่กำลังบินว่อนอยู่ทางภาคใต้ในขณะนี้ เป็นนกเงือกที่อพยพมาจากป่าทางทิศตะวันตก โดยเฉพาะป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เมื่อถึงช่วงฤดูฝนหรือตั้งแต่เดือนมิถุนายนนกเงือกกรามช้างปากเรียบก็จะอพยพลง มาทางภาคใต้และเดินทางไปถึงประเทศมาเลเซีย ระหว่างทางก็แวะพักหากินในหลายพื้นที่ จากการฝ้าระวังและนับจำนวนที่ป่าฮาลาบาลา พบนกเงือกกรามช้างปากเรียบอพยพลงมาทางใต้ประมาณ 3,000 ตัว และได้แยกออกเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่ เพื่อหากินระหว่างเดินทางก็แวะพักในหลายจังหวัดมีตั้งแต่จังหวัดระนอง สุราษฎร์ธานี พัทลุง สงขลา และตลอดแนวป่าเขตชายแดนไทย-มาเลเซีย นกเงือกกรามช้างจะใช้ชีวิตอพยพอยู่ทางภาคใต้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน ก็จะอพยพกลับไปผืนป่าห้วยขาแข้งเข้าโพรงรังวางไข่ออกลูก เป็นวงจรชีวิตของนกเงือกกรามช้างในประเทศไทย

ส่วนพื้นที่หมู่บ้านที่นกเงือกกรามช้างเลือกที่จะแวะพักหากินและพักนอนยามค่ำคืนนั้น ถือว่าเป็นอยู่บ้านที่สงบปรอดภัยนกเงือกกรามช้างปากเรียบไม่ถูกรบกวน และเมื่อถึงเวลาก็จะวนกลับมาเป็นประจำทุกปีเป็นวงจรชีวิตของนกเงือกกรามช้าง และการอนุรักษ์ดูแลความปลอดนั้น คงไม่ต้องทำอะไรมากปล่อยให้นกเกาะนอนพักอยู่ตามต้นไม้ที่เขาเลือก เพราะนกจำนวนมากก็ต้องใช้ต้นไม้ที่อยู่ใกล้ๆกันหลายต้นและผู้คนที่สนใจทั้งชาว บ้านรวมทั้งช่างภาพที่รอถ่ายนกเงือกจะไม่เข้าไปได้จนเกินไป เว้นระยะห่างให้นกรู้สึกว่าปลอดภัยและนกจะไม่บินหนี