สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ว่านายแอนโทนี บลิงเคน รมว.กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เผยแพร่รายงานว่าด้วย สถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือ “ทิป รีพอร์ต” ประจำปีนี้ ลดระดับประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของกัมพูชา เวียดนาม บรูไน และเขตบริหารพิเศษมาเก๊าของจีน ลงสู่ “เทียร์ 3” ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุด และเพิ่มความเสี่ยงของการเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรของรัฐบาลวอชิงตันในอนาคต


สำหรับประเทศอื่น ซึ่งสหรัฐจัดอันดับให้อยู่ในเกณฑ์ต่ำที่สุดของสถานการณ์การค้ามนุษย์ รวมถึง จีน รัสเซีย เกาหลีเหนือ เมียนมา มาเลเซีย อิหร่าน อัฟกานิสถาน เอริเทรีย คิวบา และเวเนซุเอลา


ทั้งนี้ ในส่วนของเวียดนามนั้น แม้มีการพัฒนาความร่วมมือกับสหรัฐเพิ่มขึ้นในหลายมิติ นัยว่าเพื่อคานอำนาจกับการขยายอิทธิพลของจีน แต่เนื้อหามในทิป รีพอร์ต ระบุว่า รัฐบาลฮานอยเพิ่มการฟ้องร้องดำเนินคดี และตัดสินโทษจำคุกเป็นเวลานาน ให้กับนักการเมือง และนักเคลื่อนไหวฝ่ายตรงข้าม ตลอดทั้งปีที่แล้ว

นายแอนโทนี บลิงเคน มอบรางวัล “ฮีโร่ด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์” ให้กับนางอภิญญา ทาจิตต์ รองผู้อำนวยการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทางทะเล ( Stella Maris ) องค์กรภาคประชาสังคม หรือเอ็นจีโอ ซึ่งทำงานร่วมกับภาครัฐ ในการให้การช่วยเหลือและคุ้มครองแรงงานต่างด้าว ในภาคประมงทะเลของไทย


ขณะเดียวกัน สหรัฐยังวิจารณ์ การที่ไม่มีหน่วยงานแห่งใดของเวียดนามดำเนินการอย่างจริงจัง ต่อกรณีเจ้าหน้าที่การทูตหลายคนประจำสถานเอกอัครราชทูตเวียดนาม ณ กรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย ถูกกล่าวหา ว่ามีส่วนพัวพันกับการค้ามนุษย์


ด้านสถานการณ์ในกัมพูชานั้น เนื้อหาในทิป รีพอร์ต ใช้คำว่า “การคอร์รัปชั่นประจำถิ่น” เป็นอุปสรรคให้กับความพยายามของหลายฝ่าย ในการช่วยเหลือเด็กซึ่งตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ตามสถานบันเทิง งานก่อสร้าง และผู้ที่ถูกล่อลวงให้เข้าร่วมเครือข่ายคอลเซ็นเตอร์ ส่วนสถานการณ์ในมาเก๊า สหรัฐวิจารณ์ว่า “ไม่ให้ความร่วมมือ” ในการเปิดเผยข้อมูล เป็นปีที่สามติดต่อกันแล้ว

ขณะที่ไทยได้รับการปรับขึ้นจาก “เทียร์2 เฝ้าระวัง” เมื่อปีที่แล้ว ขึ้นมาอยู่ “เทียร์ 2” ในปีนี้ โดยชื่นชมการที่รัฐบาลไทยเพิ่มความพยายามต่อสู้กับปัญหาการค้ามนุษย์ แม้มีข้อจำกัดเรื่องศักยภาพและการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม สหรัฐมองว่า หน่วยงานของไทยยังต้องปรับปรุงอีกหลายด้าน ทั้งในเรื่องการดำเนินคดีและการลงโทษผู้กระการทำผิด และการส่งเสริมองค์ความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ ในการระบุตัวตนผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์

นอกจากนี้ นางอภิญญา ทาจิตต์ รองผู้อำนวยการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทางทะเล ( Stella Maris ) องค์กรภาคประชาสังคม หรือเอ็นจีโอ ด้านการช่วยเหลือแรงงานประมงในไทย เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัล “ฮีโร่ด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์” ประจำปีนี้ด้วย


อนึ่ง จีนและรัสเซียแทบไม่เคย “ให้ความสำคัญ” กับการจัดทำทิป รีพอร์ต ของสหรัฐ โดยกระทรวงการต่างประเทศจีนเคยกล่าวว่า “เป็นการใช้กฎหมายของตัวเอง ตั้งบรรทัดฐานเพื่อวิจารณ์กิจการภายในประเทศอื่น” และรัฐบาลมอสโกกล่าวว่า “ไม่มีนโยบายปฏิบัติตามคำแนะนำของบุคคลภายนอก” เพื่อจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์.

เครดิตภาพ : REUTERS