เมื่อวันที่ 28 ก.ค. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา คพ.ร่วมกับ กรมศุลกากร เข้าตรวจสอบสินค้าขาเข้าที่นำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย โดยบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่สำแดงว่าเป็นเศษกระดาษ (waste paper-mixed paper) พิกัดศุลกากร 4704.90.00 น้ำหนักประมาณ 130 ตัน ที่ศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ผลการตรวจสอบสินค้าในตู้คอนเทเนอร์พบว่า สินค้ามีลักษณะคล้ายกันทุกตู้ โดยเป็นเศษกระดาษและมีวัสดุชนิดอื่นปะปน เช่น กระเป๋าผ้า ซองบรรจุภัณฑ์อาหาร หน้ากากอนามัย ผ้าอ้อมอนามัย สเปรย์กระป๋อง ซองยา เป็นต้น รวมวัสดุเจือปนประมาณ 20-30% เข้าข่ายเป็นขยะเทศบาล พิกัด 3825.10.00 ซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้าและห้ามนำผ่านราชอาณาจักร ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะเทศบาลเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้าและห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2562

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายอรรถพล กล่าวว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ได้สั่งการให้ติดตามการดำเนินคดีและส่งกลับสินค้าขยะเทศบาลกลับประเทศต้นทางโดยเร็ว ให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล โดย คพ.จะประสานขอให้กรมศุลกากรดำเนินการกับผู้นำเข้าฯ ให้ส่งกลับสินค้าขยะเทศบาลกลับประเทศต้นทางโดยเร็ว พร้อมประสานกรมการค้าต่างประเทศให้แจ้งไปยังหน่วยงานของประเทศต้นทางเพื่อเน้นย้ำกฎระเบียบในเรื่องนี้ เพื่อให้มีการกำกับบริษัทเอกชนคู่ค้าในประเทศต้นทางมิให้ส่งสินค้าที่เข้าข่ายเป็นขยะเทศบาลมายังประเทศไทยอีก

นายอรรถพล กล่าวว่า คพ. และกรมศุลกากรได้หารือร่วมกับบริษัทเอกชนที่นำเข้าชี้แจงว่าจะนำสินค้าดังกล่าวไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษม้วนที่โรงงานใน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ที่ผ่านมานำเข้าเศษกระดาษจากต่างประเทศเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบ ประมาณ 4 % เท่านั้น ที่เหลือใช้เศษกระดาษภายในประเทศ สาเหตุที่นำเข้าเนื่องจากเศษกระดาษเยื่อขาวในประเทศไม่เพียงพอ ก่อนหน้านี้ได้เคยนำเข้ามาแล้วซึ่งในสัญญาซื้อขายจะกำหนดให้มีวัสดุเจือปนไม่เกิน 1% โดยน้ำหนัก โดยสิ่งเจือปนจำพวกเศษพลาสติกที่ถูกคัดแยกที่โรงงานจะส่งไปเป็นเชื้อเพลิงเสริมที่โรงปูนซีเมนต์ ทั้งนี้ บริษัทฯ พร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการให้ถูกต้องต่อไป ในส่วนประเด็นความผิดทางกฎหมายให้เป็นไปตามการดำเนินการของกรมศุลกากร และบริษัทฯ จะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าตั้งแต่ต้นทาง เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุในลักษณะเช่นนี้อีก.