ในยุคที่เศรษฐกิจยังตกสะเก็ด โดนพิษจากราคาน้ำมัน เงินเฟ้อพุ่งสูง สินค้าดาหน้าขึ้นราคา ทำเงินในกระเป๋าลดลง สร้างความไม่มั่นใจให้ประชาชน คนทำมาหาเงิน เดือดร้อนเป็นวงกว้าง!??!

การขับเคลื่อนเศราฐกิจในอนาคตจำเป็นต้องใช้ดิจิทัลมาช่วย โดยเฉพาะในธุรกิจต่างๆ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน แต่ในปัจจุบันต้องยอมรับว่า แรงงานที่มีทักษะดิจิทัลของไทย ยังขาดแคลน!!

“ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์” ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ฉายภาพให้เห็นถึง ตลาดแรงงานด้านดิจิทัล ว่า การเกิด ดิจิทัล ดิสรัปชั่น ในวงการต่างๆ ทำให้ธุรกิจต้องเร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล ซึ่งจำเป็นต้องอาศัย แรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัล ทั้งด้าน เอไอ บิ๊กดาต้า คลาว์ด ไอโอที และ ออโต้เมชั่น โรบอท ฯลฯ แต่ปัจจุบันภาคการศีกษาของไทย สามารถผลิตแรงงานด้านนี้ที่เป็นเด็กจบใหม่ในแต่ละปีได้ประมาณ 25,000-30,000 คน ต่อปี เท่านั้น

โดย 50% จะเข้าสู่อุตสาหกรรม และประกอบธุรกิจของตนเอง ส่วนอีก 50% จะไปอยู่ในสายอาชีพอื่น หรือที่เรียกว่า นอน เทค จึงทำให้ประเทศขาดแรงงานด้านนี้ ขณะเดียวกันจากผลสำรวจ พบว่าประเทศไทยต้องการแรงงานด้านดิจิทัลเฉลี่ยปีละ 1 แสนราย จึงทำให้ขาดแคลนอยู่ 6-7 หมื่นคน ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข!!

ไพฑูรย์ ศิริฉัตรชัยกุล (ซ้าย) และ ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์(ขวา)

ขณะเดียวกันในมุมมองภาคอุตสาหกรรม อย่าง “ไพฑูรย์ ศิริฉัตรชัยกุล” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ประธานสถาบันเทคโนโลยี และการสื่อสารเพื่ออุตสาหกรรม (ICTI) บอกว่า  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ 76 จังหวัด ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม ซึ่งก่อนโควิด-19 ได้สำรวจพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ กว่า 64% บอกว่า องค์กรของตนเองมีบุคลากรด้านไอที ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีบุคลากรด้านไอทีในองค์กร ประมาณ 1-5 คนเท่านั้น!!

ขณะที่รูปแบบของการจัดจ้างบุคลากรส่วนใหญ่เลือกที่จะจัดจ้างแบบ Outsource Service มากที่สุดถึง 38% และเมื่อเกิดโควิด-19 ใน 2 ปีกว่าที่ผ่านมา เป็นตัวเร่งที่ต้องปรับตัว ส่งผลให้ทักษะดิจิทัล ด้าน ไอโอที บิ๊กดาต้า และคลาว์ด เป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมาก

“ทักษะด้านดิจิทัลในปัจจุบันไม่ได้อยู่ในสายไอทีอย่างเดียวแล้ว หากรักการเรียนรู้ และมุ่งมั่นอุตสาหะ เชื่อว่าจะสามารถ พัฒนาสกิล หรือ ทักษะในด้านนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นสายงานบริหาร โลจิสติกส์ และการตลาดฯลฯ  หากเรียนรู้เพิ่มเติมในคอร์สเรียนต่างๆระยะสั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นถึงผู้เชี่ยวชาญ ก็เป็นที่ต้องการขององค์กรธุรกิจต่างๆ”

ภาพ pixabay.com

ซึ่งปัจจุบันตำแหน่งงานที่มีความต้องการสูงที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ งานบริหารด้าน IT (IT Management) งานนักเขียนโปรแกรม (Programmer) งานผู้ดูแลระบบและเครือข่าย (Network Admin Jobs) งานด้านพัฒนาและดูแลระบบ CRM / ERP และงานเว็บไซต์ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามแม้ในช่วงที่ผ่านมาจะมีกระแสบริษัทเทคในต่างประเทศ ชะลอการจ้างงาน หรือมีปลดคนออกนั้น ในมุมมองของ ผอ.ดีป้า มองว่า เป็นวัฏจักร หรือ วงรอบของธุรกิจ เพราะก่อนเกิดโควิด-19 บริษัทเหล่านี้มีการเติบโตสูงมากและยิ่งเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด ที่ต้องธุรกิจใช้ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น จึงต้องเร่งรับคนเข้ามา แต่ปัจจุบันเมื่อถึงจุดที่เศรษฐกิจถดถอย ก็จำเป็นต้องเลย์ออฟคนออก !?!

แต่เมื่อมองที่ประเทศไทยมีธุรกิจที่เป็นกิจการอยู่ 3 ล้านราย และจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประมาณ 7 แสนราย ที่เป็นภาคผลิต และการค้าและบริการ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ยังเป็นกลุ่ม 1.0 และ 2.0 และยังไม่มีบุคลากรรองรับในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งประเทศไทย ไม่ได้รับผลกระทบและยังขาดแคลนแรงงานดิจิทัลต่อเนื่อง ต่อการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมของประเทศ!!

ภาพ pixabay.com

ทั้งนี้เพื่อเป็นการเร่งพัฒนากำลังคนดิจิทัล ทาง ดีป้า และ ส.อ.ท. จึงได้ร่วมกับ และเครือข่ายพันธมิตรภาคการศึกษา ประกอบด้วย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย, ม.ธุรกิจบัณฑิตย์, ม.เกษตรศาสตร์ และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดโครงการรัฐร่วมเอกชนส่งเสริมทักษะใหม่ นักศึกษาวัยหางาน

เพื่อเร่งสร้างกำลังคนดิจิทัลในกลุ่มของนิสิตและนักศึกษาชั้นปีสุดท้าย รวมถึงบัณฑิตจบใหม่ ไม่เกิน 2 ปี ทั้งในสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอที) และสาขาทั่วไป (นอน ไอที) ที่ต้องการเข้ามาทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้อง กับเทคโนโลยีดิจิทัล ให้มีความพร้อมผ่านการส่งเสริมทักษะที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม เพื่อป้อนเข้าสู่ระบบ ในสาขาที่ขาดแคลน คือ เอไอ, ไอโอที, แมชชีน เลิร์นนิ่ง, คลาว์ด คอมพิวติ้ง และ ดิจิทัล มาร์เกตติ้ง รวมจำนวนกว่า 1,000 คน ผ่านทางมหาวิทยาลัยในเครือข่ายพันธมิตรภาคการศึกษา

นอกจากนี้ยังจับมือกับบริษัทเอกชนด้านไอที อาทิ อเมซอน, ไมโครซอฟท์, เอสซีบี อคาเดมี่ สมาคมไอโอที กละกลุ่มธุรกิจการค้าชั้นนำ เพื่อออกแบบหลักสูตร ให้ตรงตามความต้องการ ของภาคอุตสาหกรรม และมีประกาศนียบัตรเพื่อเป็นใบเบิกทาง !! ในการสมัครงานผ่านกิจกรรม จ๊อบแฟร์ ที่เป็นการรับประกันว่า เกิดการจ้างงานจริงในระบบเศรษฐกิจ !?!

สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างของโครงการนี้ ก็คือ ทั้ง ดีป้า และ ส.อ.ท. ได้จัดโครงการส่งเสริมการจ้างงานนักศึกษาวัยหางาน ด้วย โดยจะสนับสนุน เงินเดือนไม่เกิน 50% สูงสุด 6,500 บาทต่อเดือน ตลอดระยะเวลา 1 ปี แก่นายจ้างภาคเอกชนที่ต้องการจ้างงานน้อง ๆ แบ่งเป็นการจ้างงานกำลังคนในสาย ไอที 20  คน โดยสมัครผ่านทางดีป้า และ ในสาย นอน ไอที ที่ต้องการเปลี่ยนผ่านมาทำงานในสายงานไอที 100 คน สมัครผ่าน ICTI ถึงวันที่ 15 ก.ย.นี้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.icti.fti.or.th  ทำให้จะมีการเปิดรับแรงงานรวมทั้งสิ้น 120 อัตรา ในปีนี้!!

ภาพ pixabay.com

ส่วนในปีหน้าก็มีเป้าหมายรับเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 100 อัตรา เช่นกัน !?! เพื่อให้กำลังคนเหล่านี้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ในการยกระดับ ภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ !!

ซึ่งหากประสบความสำเร็จในอนาคตก็อาจจะมีการนำเสนอรัฐบาลให้พิจารณามาตรการเรื่องภาษี เพื่อให้บริษัทที่จ้างแรงงานเหล่านี้ ทำงานสามารถลดหย่อนภาษีได้ด้วย ??

ถือเป็นโครงการที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัล และให้เกิดการจ้างงานกับแรงงานทั่วไป ที่ต้องการเปลี่ยนมาทำงานสายไอที ช่วยยลดการขาดแคลนแรงงานด้านนี้

น้องๆเที่กำลังจะจบ หรือจบใหม่ไม่เกิน 2 ปี หากสนใจต้องรีบกันเลย!!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์