เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ชุมชนซอยโจ๊ก เขตบางซื่อ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่ร่วมสังเกตการณ์เก็บข้อมูลสถานการณ์เด็กและสตรี ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ นายชัชชาติ กล่าวว่า ได้รับเกียรติจากยูนิเซฟให้มาร่วมสังเกตการณ์การเก็บข้อมูล ซึ่งวันนี้เป็นการเก็บข้อมูลพื้นฐานเด็กและสตรีในชุมชน ข้อดีของการเก็บข้อมูลของยูนิเซฟคือ สามารถเปรียบเทียบในหลายประเทศทั่วโลก โดยใช้มาตรฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน อีกทั้งยูนิเซฟมีหลักทางวิชาการที่สามารถอ้างอิงและดูพัฒนาการได้ดี ส่วนใหญ่ข้อมูลเก็บมาเป็นเวลากว่า 17 ปีแล้ว

ทั้งนี้ที่ผ่านมา กทม.เราอาจไม่ได้มีบทบาทหรือความร่วมมือกับยูนิเซฟอย่างเข้มแข็งมากนัก หน่วยงานหลักที่ร่วมมือในการเก็บข้อมูล คือ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เนื่องจากการเก็บข้อมูลต้องมีหลักการวิชาการค่อนข้างแน่น มีการอบรมโดยยูนิเซฟ และต้องลงรายละเอียดในการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ ซึ่งจริงๆ แล้ว การบริหารจัดการต่างๆ การแก้ไขปัญหาของ กทม. ต้องเริ่มจากข้อมูลที่มีคุณภาพก่อน เพราะข้อมูลคือพลังที่จะแก้ปัญหาได้

อย่างไรก็ตาม ทางยูนิเซฟจะมีการเผยแพร่ข้อมูลที่จัดเก็บมาให้คนได้เห็น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี และไม่เฉพาะมิติของเด็กหรือผู้หญิง แต่รวมไปถึงมิติเรื่องความโปร่งใส ความสะดวกในการทำธุรกิจ การศึกษา การสาธารณสุข ถ้าทั้งหมดเรามีข้อมูลพื้นฐาน เชื่อว่าเราสามารถแก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง นอกจากนี้หากเรามีการเปรียบเทียบข้อมูล ก็จะเห็นได้เลยว่าการใช้งบประมาณของเราไปถูกทางหรือไม่ และมีการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนจริงๆ หรือไม่ ดังนั้นพื้นฐานข้อมูลจึงเป็นเรื่องสำคัญ กทม. พร้อมที่ร่วมมือ สนับสนุนการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ยังมีอีกหลายมิติที่ไม่ง่ายต่อการเก็บข้อมูล เช่นปัจจุบันพื้นที่กรุงเทพฯ มีประชากรที่อาศัยอยู่คอนโดมิเนียมจำนวนมาก การเข้าถึงอาจจะเป็นไปได้ยาก บางครั้งมาอาจจะไม่อยู่ในห้อง หรืออาจจะกลับห้องช่วงเวลากลางคืน ในส่วนนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟ ก็มีวิธีที่จะเข้าถึงประชากรกลุ่มนี้ให้ได้ เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการจริงๆ

เมื่อถามว่า มีการเปิดเผยข้อมูลย้อนหลังเกี่ยวกับโภชนาการและการเข้าเรียนชั้นปฐมวัยของเด็กใน กทม.ต่ำกว่าเกณฑ์ จะมีแนวทางดำเนินการอย่างไรบ้าง นายชัชชาติ กล่าวว่า จริงๆ แล้วเรามีนโยบายที่สอดคล้องกับตรงนี้ แต่ขั้นแรกก่อนที่เราจะคิดถึงอนาคต ต้องรู้ปัจจุบันก่อนว่าเราอยู่ตรงไหน และต้องยอมรับความจริงจุดไหนที่อ่อน ก็ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่หลายมิติ เราดีขึ้น เช่น ช่วงโควิด อัตราการฉีดวัคซีนเราสูงมาก สูงกว่าระดับประเทศอีก จึงมีทั้งจุดดีและจุดอ่อน ดังนั้นจึงต้องรู้ข้อมูลปัจจุบันก่อน หากเราไม่รู้ว่าเราอยู่จุดไหนแล้วไปวางแผนอนาคตอาจทำให้เราไปไม่ถึง

เมื่อถาม การคัดกรองเด็กยากจนพิเศษ เพื่อรับทุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ของ กทม. มีการดำเนินการ หรือสำรวจไปมากน้อยเพียงใด นายชัชชาติ กล่าวว่า อันนี้ถือเป็นจุดอ่อนของ กทม.จุดหนึ่ง ที่เราไม่ได้ขอรับทุนส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางการศึกษา ซึ่งเป็นกองทุนที่มีประโยชน์มาก ในส่วนนี้ได้มอบหมายให้นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. ไปเร่งดำเนินการนำเข้าสู่ระบบมากขึ้น ขณะนี้มี 2 เรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการคือ 1. เรื่องกองทุน กสศ. มองว่าจุดอ่อนยังอยู่ในกรุงเทพฯ ที่เราไปไม่ถึง และ 2. การทำ Sand Box การศึกษา ตอนนี้ยื่นไป 54 รร. จากเมื่อก่อนเรายังไม่เคยทำ ซึ่งโครงการ Sand Box เป็นเหมือนนวัตกรรมเพื่อการศึกษา