เมื่อวันที่ 9 ก.ย. นายจุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดและอัยการเจ้าของสำนวน ได้แถลงข่าวความคืบหน้าคดีแก๊งฆ่าโหด 2 ผัวเมียคนไทยที่เกาะไต้หวัน ว่า นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งฟ้อง นายสันติ ศุภอภิรดีไพลิน อายุ 35 ปี, นายธนวัฒน์ พุ่มเข็มทอง อายุ 42 ปี และนายสามารถ แช่หลี อายุ 33 ปี ผู้ต้องหาที่ 1-3 ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289 (4), 83 ประกอบพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 มาตรา 4, 6, 41

โดย น.ส.รัตนา เล็กสมบูรณ์ไชย อัยการพิเศษฝ่าย สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 ซึ่งเป็นหัวหน้าพนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดให้รับผิดชอบคดีนี้ ได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 3 คน เป็นจำเลยต่อศาลอาญาแล้วในวันนี้

ด่วน! มือฆ่าอำมหิตผัวเมียในไต้หวัน สารภาพสิ้น ใช้ท่อนเหล็กตีจนตายคาที่

คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2565 เวลาประมาณ 08.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นที่ไต้หวัน) เจ้าหน้าที่ตำรวจไต้หวันได้รับแจ้งจากพลเมืองดีว่า พบศพชายและหญิงเสียชีวิตอยู่ในรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู ซึ่งจอดอยู่ที่ลานจอดรถของสถานีรถไฟความเร็วสูงเถาหยวนชานกรุงไทเป จึงเข้าไปตรวจสอบพบศพชายไทยทราบชื่อภายหลังว่า นายประเสริฐ โนราษ และหญิงไทย ทราบชื่อ น.ส.พจนีย์ แซ่หลี่ ทั้งคู่เสียชีวิตอยู่ในรถยนต์ สภาพบาดแผลถูกตีด้วยของแข็งที่ศีรษะทั้งคู่ ซึ่ง น.ส.พจนีย์ แซ่หลี่ อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ด้วย อันเป็นคดีสะเทือนขวัญคดีหนึ่งในไต้หวัน

จากการสืบสวนสอบสวนเชื่อได้ว่าผู้ต้องหาทั้งสามได้ร่วมกันฆ่าผู้ตายทั้งสองที่สถานที่ทำงานของผู้ต้องหา จากนั้นเคลื่อนย้ายศพผู้ตายทั้งสองใส่รถยนต์แล้วนำไปจอดไว้ที่บริเวณลานจอดรถไฟความเร็วสูงดังกล่าว หลังก่อเหตุผู้ต้องหาทั้งสามได้หลบหนีกลับมายังประเทศไทย ต่อมาเจ้าหน้าที่ทางการไต้หวันขอความร่วมมือระหว่างประเทศในการสอบสวนคดีมายังสำนักงานอัยการสูงสุด ขณะที่บิดาของผู้ตายทั้งสองได้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งสามตามกฎหมายไทย จนกระทั่งตำรวจกองปราบปรามติดตามจับกุมผู้ต้องหาทั้งสามได้ในประเทศไทย

เนื่องจากเป็นคดีความผิดตามกฎหมายไทย ได้กระทำนอกราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุดเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบจึงได้มอบหมายให้หนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม ทำการสอบสวนโดยให้พนักงานอัยการ สำนักงานการสอบสวนและพนักงานอัยการสำนักงานต่างประเทศ เข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนดังกล่าวด้วย

ในการสอบสวนคดีนี้ พนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายได้ร่วมสอบสวนคดี โดยประชุมตรวจพยานหลักฐานและวางรูปคดี รวมถึงประชุมสรุปคดีเพื่อมีความเห็นทางคดีในชั้นสุดท้าย เนื่องจากเหตุคดีนี้เกิดขึ้นที่ไต้หวัน พยานหลักฐานสำคัญในคดีทั้งหมดจึงอยู่ที่ไต้หวัน สำนักงานอัยการสูงสุด โดยสำนักงานต่างประเทศ ได้ขอความช่วยเหลือจากทางการไต้หวัน ในการรวบรวมพยานหลักฐานตามหลักความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการบางส่วนได้เดินทางไปไต้หวันเพื่อขอตรวจสอบสถานที่ก่อเหตุ สถานที่ทิ้งทำลายพยานหลักฐาน และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในคดี รวมทั้งรับมอบพยานหลักฐานในคดีนี้จากทางการไต้หวัน

ความร่วมมือระหว่างประเทศในครั้งนี้ถือเป็นการร่วมมือกันระหว่างพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ และทางการไต้หวันได้ส่งมอบพยานหลักฐานที่สำคัญทั้งหมดให้แก่พนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนไทย จนทำให้การพิจารณาสั่งคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่อัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสาม ความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างประเทศในการรวบรวมพยานหลักฐานคดีนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดได้รับความร่วมมือจากสำนักงานอัยการเมืองเถาหยวน สำนักงานอัยการสูงสุดไต้หวัน กระทรวงยุติธรรมไต้หวัน และสำนักงานการสอบสวนไต้หวัน (Criminal Investigation Bureau)