เมื่อวันที่ 10 ก.ย. รองศาสตราจารย์ ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา ได้โพสต์ข้อความระบุว่า หากประเมินความเห็นของประชาชนที่ส่งเสียงผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งโพลของหลายสำนัก เกือบทั้งหมดต้องการให้พลเอกประยุทธ์พ้นจากตำแหน่ง มีเพียงกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้นที่ยังสนับสนุน สรุปได้ชัดเจนว่า ในเวลานี้ จึงกล่าวได้ว่า พลเมืองไทยเกือบทั้งหมดที่สนใจและติดตามข่าวสารการเมืองเป็นประจำ ไม่ต้องการให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป

แต่จากการประเมินท่าทีของพลเอกประยุทธ์ เห็นได้ชัดว่า เขายังคงอยากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป ดังสะท้อนออกมาจากคำชี้แจงที่ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ

1. มีการเตรียมการต่อสู้เรื่องนี้มาหลายเดือนแล้ว เห็นได้จากการแต่งตั้งคณะกฤษฎีกาชุดพิเศษ ที่ประกอบด้วยอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ความเห็นประเด็นนี้เป็นการเฉพาะ

2. ใช้ตรรกะเหตุผลสารพัดทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นเพื่อโน้มน้าวจูงใจ เช่น สาธยายคุณความดีของตนเองอย่างล้นเหลือ และลงทุนหยิบประเด็นว่าตนเองเป็น นายกฯ ขาดตอนมาต่อสู้ เพื่อไม่ให้นับรวมเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีก่อนปี 2560

3. มีการจัดทำสื่อหลายหลายรูปแบบออกมาเชียร์ เช่น ทำเป็นเพลงเชียร์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง

4. ฉวยจังหวะการปรากฏตัวในงานบางอย่างในหน่วยงานของรัฐ เช่น วปอ. ในการสร้างภาพว่ายังมีผู้สนับสนุน เช่น ให้นักศึกษาร่วมร้องเพลงสนับสนุนอย่างสนั่นหวั่นไหว บทเรียนคือ เมื่อมีอำนาจแล้ว จะงัดเอาทุกวิธีการมาใช้เพื่อรักษาอำนาจ ความอยากอยู่ในอำนาจต่อไปของพลเอกประยุทธ์ ต้องแลกด้วยต้นทุนราคาแพงของบุคคลบางคนและบางองค์กร

คนที่สูญเสียต้นทุนทางสังคมมากที่สุดจนแทบไม่หลงเหลือเกียรติภูมิอยู่เลย เห็นจะเป็นนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะ

1) การมีความเห็นที่ประเด็นที่ใหญ่และมีผลกระทบต่อประเทศสูงอย่างการนับวาะแปดปีของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแบบกลับไปกลับมา ถ้าใช้สำนวนโบราณคือ เป็นดังไม้หลักปักขี้เลน ความเห็นในช่วงที่ยังไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจ หรือยังไม่ทราบว่าบุคคลใดมีโอกาสเข้าเงื่อนไขนายกฯ 8 ปี ดูเหมือนจะยึดหลักการตามเจตนารมณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญอย่างเข้มงวด นั่นคือ “นับอายุการดำรงตำแหน่งก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญได้” แต่ความเห็นพลิกไปอีกแบบเมื่อรู้แล้วว่าใครต้องเข้าเงื่อนไขนี้ ความเห็นจึงกลายเป็น “ให้นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้”

2) การพยายามด้อยค่าเอกสารบันทึกการประชุม กรธ. ครั้งที่ 500 ทั้งด้อยค่าตัวผู้บันทึกการประชุมและความถูกต้องชอบธรรมของบันทึก โดยอ้างในคำให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญในทำนองว่า ไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องและรับรองการประชุมเกี่ยวกับบันทึกครั้งนั้น ผู้ใดเอาเอกสารนั้นไปอ้างก็รับผิดชอบกันเอาเอง แต่เมื่อความจริงปรากฏออกมาภายหลัง กลับตรงข้ามกับสิ่งที่นายมีชัยให้การทั้งสิ้น นายมีชัยจึงถูกวิจารณ์อย่างรุนแรง

ปรากฏการณ์มีชัย ทำให้เกิดบทเรียนว่า การรับใช้ผู้อำนาจในยุคปัจจุบัน ย่อมนำความเสื่อมมาสู่ตนเอง นี่คงเป็นบทเรียนให้บรรดานักกฏหมายทั้งหลายนำไปพิจารณาได้บ้าง

ส่วนในแง่องค์กร เรื่องนี้จะกระทบต่อต้นทุนทางสังคมศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยทีเดียว

ศาลรัฐธรรมนูญต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างมหาศาลทั้งจากเครือข่ายอำนาจที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการตัดสินจากประชาชน และสื่อมวลชน เพราะเป็นการตัดสินที่มีผลกระทบสูงต่อการเมือง และระบอบประชาธิปไตยไทย

แนวทางการตัดสินในอดีตของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับพลเอกประยุทธ์ ล้วนแล้วเป็นคุณต่อพลเอกประยุทธ์ทั้งสิ้น มีประชาชนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการตัดสินและวิจารณ์ไปในทำนองว่า คำตัดสินหลายเรื่องขัดแย้งกับหลักการและข้อเท็จจริง กระแสนี้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางในสังคม ส่งผลให้ต้นทุนทางสังคมของศาลรัฐธรรมนูญตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และภาพลักษณ์ถูกรับรู้ในฐานะเป็นการพิทักษ์ผู้มีอำนาจ มากกว่าปกป้องรัฐธรรมนูญ

ที่ผ่านมา ต้นทุนทางสังคมที่มีอยู่ ก็ร่อยหรอลงไปไม่น้อย เพราะถูกใช้ไปเพื่อพยุงตำแหน่งและอำนาจให้แก่พลเอกประยุทธ์เป็นจำนวนมาก ในครั้งนี้ จะสามารถฟื้นฟูต้นทุนทางสังคมกลับคืนมาได้บ้าง หรือจะทำให้สูญเสียหนักยิ่งขึ้นไปอีก ก็อยู่ที่การเลือกในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ขอบคุณข้อมูลจากเพจ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต