เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่สามย่านมิตรทาวน์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ว่า สถานการณ์น้ำท่วมตอนนี้หนักอยู่จุดเดียวคือที่ลาดกระบัง ซึ่งเราลุยเต็มที่ ขณะนี้ ระดับน้ำในคลองประเวศบุรีรมย์ ลดลงไปเกือบ 10 เซนติเมตรแล้ว โดย กทม. ได้เปิดประตูระบายน้ำลาดกระบัง 1.30 เมตร และเปิดประตูระบายน้ำฝั่งคลองกระทุ่มเสือปลาอีก 2 เมตร  ซึ่งพยามยามผลักดันน้ำไปยังสถานีสูบน้ำพระโขนงให้มากขึ้น ขณะเดียวกันกรมชลประทาน ได้ช่วยสูบน้ำออกทางฝั่งคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต และได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมที่บางปะกง เพื่อสูบน้ำจากคลองสำโรงด้วย เนื่องจากคลองมีปริมาณน้ำมากจากฝนที่ตกลงในพื้นที่สำโรงกว่า 170 มม. เมื่อวันก่อน หากพร่องน้ำในส่วนนี้ได้ จะสามารถช่วยสูบน้ำฝั่งทางใต้ลงสู่คลองพระองค์เจ้าฯ ได้

ส่วนกรณีที่มี ส.ส.ให้ข้อมูลว่า ขอเรือผลักดันน้ำแล้วไม่ได้นั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า ผู้ว่าฯ เองก็ไม่ได้เป็นคนสั่งว่าให้เอาไปไว้ที่ไหน เพราะเราไม่มีความรู้ในภาพรวม เราได้คำขอร้องมาก็ส่งให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบ ซึ่งเขาต้องพิจารณาเพราะทรัพยากรมีจำกัด ตอนนี้เราตั้งเรือผลักดันน้ำตลอดคลองประเวศ  เพราะเป็นตัวเชื่อมหลัก ส่วนด้านล่างดันลำบาก มีระยะทาง 25 กิโลเมตร และพื้นที่เป็นแอ่ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ อยู่ระหว่างประสานงานกับกองทัพเรือ ในการขอเรือผลักดันน้ำเพิ่มเติมในจุดที่มีคนร้องขอ ขณะที่ สถานการณ์คลองลาดพร้าว และคลองเปรมประชากร สถานการณ์ดีขึ้นมาก โดยคลองลาดพร้าวระดับน้ำลดลงในระดับไม่วิกฤติแล้ว ส่วนคลองเปรมระดับน้ำลดลง 20 ซม. ตอนนี้พื้นที่ดอนเมืองแห้งแล้ว ยังเหลือเล็กน้อยตามหมู่บ้านต่างๆ

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า เมื่อวานนี้ (12 ก.ย.) ฝนตกมาแบบไม่รู้ตัวเมื่อช่วงบ่ายและตกหนักในพื้นที่เขตราชเทวีกว่า 100 มม. มีน้ำท่วมขังถนนสายหลักกว่า 18 จุด แต่แห้งกลับสู่ภาวะปกติภายใน 2-3 ชม. แสดงให้เห็นว่าระบบเส้นเลือดฝอยที่เราทำไปได้เร็ว แต่ในจุดที่หนักคือ จุดที่คลองน้ำล้น ขณะที่ ซอยรามอินทรา 39 เป็นจุดที่โหดที่สุดระดับน้ำลดลงแล้ว เย็นนี้น่าจะลดลงหมด จุดวิกฤติตอนนี้เริ่มคลี่คลาย เหลือที่ลาดกระบังที่เราต้องเข้าไปดูแลประชาชน โดยช่วงเช้าวันนี้ (13 ก.ย.) ได้ประชุมร่วมกับรองปลัด กทม. ให้ดูแลเรื่องการเยียวยาค่าเสียหายต่างๆ

นอกจากนี้ ช่วงเวลา 15.00 น. จะเดินทางไปรับ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เอาเครื่องสูบน้ำมาเพิ่มให้จำนวน 6 เครื่อง ที่สถานีสูบน้ำพระโขนง  และกรมชลประทาน เอามาเพิ่มให้อีก 3 เครื่อง ซึ่งเป็นความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน

ส่วนประเด็นที่นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรอง ผู้ว่าฯ กทม. แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมของ กทม. ว่า การบริหารจัดการเส้นเลือดใหญ่เป็นอัมพาต จะทำให้เส้นเลือดฝอยอัมพาตไปด้วย หรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า เส้นเลือดใหญ่ก็ยังไปได้ สุดท้ายต้องดูภาพรวม หากเส้นเลือดใหญ่ดี แต่เส้นเลือดฝอยไปไม่ถึง น้ำก็ไปไม่ถึงอุโมงค์ระบายน้ำ อย่างที่เราพยายามทำตั้งแต่เข้ามา ในการลอกท่อ ลอกคูคลองต่างๆ เพราะเราเชื่อว่าต่อให้อุโมงค์ดีแค่ไหนถ้าน้ำไปไม่ถึงก็ไม่มีประโยชน์ ต้องทำ 2 ระบบไปด้วยกัน

“ก็ทำเต็มที่ทุกอย่าง อาจจะต้องปรับแผนระยะกลาง และระยะยาว ในการปรับปรุงคุณภาพ หรือปรับแผนเรื่องอุโมงค์เช่น คลองประเวศ รู้ว่าจุดอ่อนหนักอาจจะต้องหาอุโมงค์เป็นทางลัดไปทางคลองร้อยคิว ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาวขอบคุณทุกความเห็น เรารับฟังทุกอัน อะไรที่ทำได้ก็ทำ อะไรที่ยังทำไม่ได้ต้องรอและมีคำชี้แจงมา” นายชัชชาติ กล่าว

เมื่อถามว่า โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน (Water Bank)  หรือบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน มีประสิทธิภาพช่วยในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้บ้างหรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า มองว่า Water Bank มันยาก แต่อาจเป็นไปได้หากเรารู้จุดชัดเจนว่าน้ำจะท่วมตรงไหน ซึ่งการทำงานของ Water Bank สมมุติว่าสามารถรับน้ำได้ 10,000 คิว เมื่อน้ำจากที่อื่นไหลมารวมกัน 10,000 คิว เต็มแล้ว Water Bank ก็ไม่มีประโยชน์ ขณะที่มวลน้ำ มันมหาศาล อย่าคิดว่าพอเราเห็นน้ำท่วมที่ผิวแล้วคิดว่าดูดลงWater Bank แล้วน้ำจะแห้ง ไม่จริง เพราะน้ำจะไหลจากที่อื่นมาเติม เพราะฉะนั้น การทำ Water Bank ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะราคาแพง เชื่อว่าแก้มลิงธรรมชาติ หรือการขุดลอกคูคลอง ได้ Water Bank เยอะกว่า ราคาถูกกว่า และรับได้ทั่วด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเรื่องการจัดก่อสร้าง Water Bank เพิ่มเติมก็รับไว้ แต่คงไม่ใช้เร็วๆ นี้ ต้องดูแผนระยะยาว แต่เชื่อว่า ข้อเสนอเหล่านี้ฝ่ายเทคนิค กทม. อยู่ระหว่างพิจารณาอยู่ แต่ต้องคิดเรื่องความคุ้มทุนด้วย