เมื่อวันที่ 30 ก.ย. มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก @Chakaraht Phromchittikhun ออกมาโพสต์ไขข้อสงสัย ให้กับคนที่กำลังถกเถียงกันว่า สรุปแล้วเซอร์วิสชาร์จ จำเป็นต้องจ่ายหรือไม่ โดยได้ข้อสรุปที่น่าสนใจในข้อความระบุว่า ‘ผมได้ปรึกษาทนาย ว่าร้านอาหารสามารถเก็บค่า service charge ลูกค้าได้ไหม จากการระดมสมองของกลุ่มทนายมือดี 6 คน เพื่อค้นหาและวิเคราะห์ข้อกฎหมายต่าง ๆ ปรากฏว่า ลูกค้ามีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่า service charge และทางร้านไม่มีสิทธิในการเรียกเก็บ ผมพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ เราไปร้านอาหาร เราไปซื้ออาหาร หลังจากที่เราสั่งอาหาร ถือว่าการตกลงซื้อขายได้เกิดขึ้นแล้ว และกระบวนการทั้งหมด ที่เกิดขึ้นในการกินอาหาร ก็มีแค่ พนักงานนำอาหารมาเสิร์ฟให้เรา การเรียกเก็บค่า service charge 10% จึงไม่มีความเป็นธรรม เพราะไม่ได้มีบริการเสริมใด ๆ ขึ้นมาจากการเสิร์ฟอาหารปกติ และต่อให้มีบริการอะไรที่เพิ่มเป็นพิเศษ ลูกค้าก็ต้องมีสิทธิเลือกว่าจะซื้อบริการนั้นหรือไม่ 

และผมได้ปฏิเสธการจ่ายค่า service charge มาตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ทุกร้านจะเรียกผู้จัดการร้านมาคุยกับผม ผมได้ตอบกลับไปทุกรายว่า คุณมีสิทธิอะไรมาคิดเงินผมเพิ่มอีก 10% นอกเหนือจากค่าอาหาร ผมท้าให้ฟ้องร้องเป็นคดีตัวอย่างเลย ให้ศาลตัดสินเป็นคดีแรกของประเทศไทยไปเลย เพื่อจะได้ลงหน้า 1 ไทยรัฐ คนไทยทั้งประเทศจะได้เลิกถูกเอาเปรียบจากนายทุน ปรากฏว่า ไม่มีร้านไหนกล้าเก็บค่า service charge ผมแม้แต่ร้านเดียว โดยทางผู้จัดการร้านบอกว่าครั้งนี้จะอนุโลมให้เป็นพิเศษ ผมสวนกลับไปทันทีว่า พรุ่งนี้ผมก็จะมากินอีก แล้วก็จะไม่จ่ายค่า service charge เช่นเดิม ให้ทางร้านเตรียมทนายมาด้วยเลยก็ได้  

ตลอด 2 เดือน หลังจากที่ไม่ต้องจ่ายค่า service charge 10% ทำให้ผมมีเงินในกระเป๋าเหลือมากขึ้นจนน่าตกใจ ผมมาคิด ๆ ดู ตลอดชีวิตผมเสียค่าโง่พวกนี้ไป น่าจะเป็นรถยนต์คันหนึ่งได้เลย หรือถ้านำไปลงทุนในกองทุนรวม เงินก้อนนี้คงกลายเป็นล้านไปแล้ว บางร้านถึงกับคิดค่าบริการสุดโหด 15-20% ก็มีในหลาย ๆ ร้านในกรุงเทพฯ

หลังจากอ่านกระทู้นี้จบ ขอให้ทุกคนปฏิเสธการจ่ายค่าบริการในทุกกรณี เพราะทางร้านไม่มีสิทธิมาเก็บกับเรา เด็กเสิร์ฟคือลูกจ้างของร้าน และกฎหมายกำหนดให้นายจ้างเป็นผู้จ่ายค่าจ้าง ไม่ใช่ผลักภาระมาให้ลูกค้าเป็นค่าจ่าย ร้านค้าบางร้านหัวหมอ ใช้จุดอ่อนด้านต่อมคุณธรรมของคนไทย โดยบอกว่าค่าบริการจะทำให้พนักงานเสิร์ฟมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เปิดคางมาแบบนี้ ผมสวนด้วยอัพเปอร์คัตกลับไปทันทีว่า ถ้าคุณอยากให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นก็ขึ้นเงินเดือนให้พวกเขาเป็นเดือนละแสนสิ มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับผมเลย ถ้าวันนี้ผมไม่เป็นคนเริ่ม สังคมไทยต่อไปลำบากแน่ เพราะร้านอาหารมันจะได้ใจ และอาจขึ้นค่าบริการไปเรื่อย ๆ จนวันหนึ่ง ค่า service charge อาจแพงกว่าอาหาร เช่น ข้าวผัดกุ้งจานละ 80 ค่าบริการ 100 บาท คนไทยถูกเอาเปรียบจนคิดว่ามันคือเรื่องปกติ ถ้าใครมองว่าการจ่ายค่าบริการ 10% เป็นเรื่องปกติ และชอบด้วยเหตุผลแล้ว ผมแนะนำว่าคุณควรทบทวนตัวเองแล้วว่าคุณคงถูกเอาเปรียบจนกลายเป็นเรื่องปกติรึป่าว  

เรื่องนี้ถึงอย่างไรก็ผิดกฎหมาย และเรามีสิทธิอย่างเต็มที่ที่จะไม่จ่าย ผมอยากให้ร้านอาหารฟ้องผมเหลือเกิน จะได้เป็นคดีตัวอย่างไปเลย และมั่นใจว่า ผมชนะแน่นอน หลังจากปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายที่จบจาก อเบอร์ดีน (แหล่งผลิตนักกฎหมายระดับท็อปของโลก) เขาให้เหตุผลไว้อย่างน่าฟัง ว่า…ถ้าเรื่องนี้ศาลตัดสินให้ ผู้บริโภคแพ้คดี สิ่งที่ตามมาก็คือ ทุก ๆ ธุรกิจจะหันมาเก็บค่าบริการบ้าง เช่น ร้านถ่ายเอกสาร เก็บค่าบริการเพิ่มอีก 10% เพราะเขาต้องเอามือหยิบกระดาษจากเครื่องส่งให้คุณ ร้านขายของชำ จะเก็บค่าบริการเพิ่มอีก 10% เพราะเขาต้องให้พนักงานหยิบของใส่ถุงให้คุณ มันมีอะไรแตกต่างจากร้านอาหาร ที่แค่ยกอาหารมาเสิร์ฟให้ลูกค้า

ถ้าร้านอาหารสามารถเก็บได้  ธุรกิจอื่น ๆ ก็เก็บได้เช่นกัน กฎหมายไม่เปิดช่องให้ร้านอาหารสามารถมาเรียกเก็บค่าบริการจากเราได้ ส่วนใครที่ประทับใจในการบริการ คุณสามารถให้เป็นทิปแก่พนักงานได้ เพราะทิปมันถึงพนักงานแน่นอน และเป็นการให้ด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่ถูกมัดมือชกแบบ service charge’

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก Chakaraht Phromchittikhun