สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ว่า ในช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ร้อนที่สุดในยุโรปตั้งแต่เริ่มมีการบันทึก และอุณหภูมิที่สูงอย่างมาก ส่งผลให้ทวีปเผชิญกับภัยแล้งครั้งเลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่ช่วงยุคกลาง

พืชผลจำนวนมากต่างเหี่ยวเฉาในพื้นที่เพาะปลูกของยุโรป ส่วนภัยแล้งเป็นประวัติการณ์ทุบสถิติความรุนแรงของไฟป่า และสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อโครงข่ายไฟฟ้าของทวีป อีกทั้งยังมีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนในยุโรปประมาณ 24,000 รายแล้ว

ทั้งนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศระดับนานาชาติระบุว่า ความร้อนที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ทำให้สภาพอากาศสุดขั้วเกิดขึ้นมากกว่าช่วงต้นของยุคอุตสาหกรรม ขณะที่กลุ่มเครือข่ายความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศนานาชาติ (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอ) คำนวณว่าภัยแล้งทางการเกษตรและระบบนิเวศทั่วซีกโลกเหนือ มีโอกาสเกิดขึ้นอย่างน้อย 20 เท่า เพราะภาวะโลกร้อน

โดยรวมแล้ว ภัยแล้งในซีกโลกเหนือดังเช่นในฤดูร้อนของปีนี้ มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นทุก ๆ 20 ปีในสภาพอากาศปัจจุบัน เมื่อเทียบกับทุก ๆ 400 ปีในช่วงกลางศตวรรษที่ 18

ด้านนายฟรีเดอริก ออตโต อาจารย์อาวุโสด้านภูมิอากาศวิทยา จากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่า ซีกโลกเหนือในขณะนี้กำลังแสดงถึง “สัญญาณการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ชัดเจน” ในแนวโน้มภาวะโลกร้อนโดยรวม

ขณะที่ นายมาร์เตน ฟาน อาลสต์ ผู้อำนวยการศูนย์สภาพอากาศเรดครอส เรดเครเซนต์ (อาร์ซีซีซี) และศาสตราจารย์ด้านการรับมือผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ จากมหาวิทยาลัยตเว็นเตอ กล่าวว่า ทางรัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการมากกว่านี้ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับความร้อนและภัยแล้งในอนาคต ซึ่งจะเกิดบ่อยครั้งกว่าเดิมเพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้น.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES