กลายเป็นชื่อที่ถูกโจษขานและได้รับการจับตามองห้ามกระพริบในแวดวงการเมืองขึ้นมาในทัน กับชื่อของ นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ผู้มีประสบการณ์ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ มาเกือบ 40 ปี เป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ระดับแถวหน้าของเมืองไทย ซึ่งกำลังถูกจับตาว่าอาจเบนเข็มเข้าสู่การเมือง ถึงขั้นเป็นรายชื่อ “แคนดิเดต” นายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย

อนาคต! ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นักบริหาร-นายกรัฐมนตรี?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีมข่าวเดลินิวส์ จะพามาย้อนคำให้สัมภาษณ์ ของนายเศรษฐา ที่ครั้งหนึ่ง เคยจับเข่าพูดคุยกับทีมข่าวเดลินิวส์ เปิดใจแบบเอ็กซ์คลูซีฟชนิดหมดเปลือก ในประเด็นหลายคนจับตา กรณีออกมาแสดงความคิดเห็นในแง่มุมเศรษฐกิจบ่อยครั้ง จนเชื่อกันว่า อยากจะเป็นนายกรัฐมนตรี โดยครั้งนั้น นายเศรษฐา ตอบคำถามได้อย่างน่าสนใจว่า หลายคนเข้าใจว่าตนพูดมาก เพราะอยากเป็นนายกรัฐมนตรี อยากเป็นรัฐมนตรี แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้อยากเป็นอะไรเลย ไม่ได้หิวแสง ไม่ได้ต้องการพื้นที่สื่อฯ เพราะชีวิตทุกวันนี้มีกินมีใช้และสุขสบายมากด้วย แต่ปีหน้าอายุถึง 60 ปีแล้ว และเชื่อว่าตนมีประสบการณ์พอสมควร ดังนั้นจึงมีการเสนอแนะอะไรออกไปบ้างทางโลกโซเชียล บนพื้นฐานของการระมัดระวังคำพูด โดยมีเส้นแบ่งอย่างชัดเจนระหว่างความตรงไปตรงมา แต่ไม่ก้าวร้าวหยาบคาย ไม่ได้ต้องการ “ด้อยค่า-ด้อยคุณภาพ” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ในสายตาสาธารณะ

แต่คำพูดที่เสนอออกไปเพื่อให้รัฐบาลนำไปใช้บ้าง เช่นเสนอไป 20 รัฐบาลนำไปใช้แค่ 2 พอแล้ว! หรือไม่นำไปใช้เลยก็ได้ ไม่เป็นไร เพราะตนไม่ได้อยู่ในสถานะนักการเมือง แค่อยากให้รู้ว่านี่คือความปรารถนาดี ไม่ได้ทำให้ใครด้อยคุณภาพ! แต่คุณอย่าลืมว่าธุรกิจอสังหาฯเป็นเซ็คเตอร์ใหญ่เกี่ยวพันกับหลายธุรกิจ มีความสำคัญกับ“จีดีพี”ประเทศ แล้วนี่คือมุมมองนักธุรกิจอสังหาฯรายใหญ่ บางปี “แสนสิริ” มีรายได้เป็นเบอร์ 1 บางปีเป็นเบอร์ 2-3-4 หมุนเวียนกันอยู่แบบนี้

นอกจากนี้ จากมุมมองของ นายเศรษฐา ที่เห็นภาพรวมปัญหาของระบบเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งจากเรื่อง โควิด-19 และ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม เมื่อเห็นปัญหาจึงออกมาเสนอแนะ เพราะคิดว่ามันเป็นหน้าที่  ซึ่ง นายเศรษฐา ยอมรับว่า บางครั้งรู้สึกอิจฉา “เจ้าสัว” บางคนมีสิทธิพูด  ทั้งที่พูดแล้วจะมีนํ้าหนักมาก แต่ไม่ยอมพูดเพื่อเพื่อนร่วมชาติที่กำลังยากลำบาก ถ้าเจ้าสัวกลัวว่าออกมาพูดแล้วจะถูก “ลิดรอน” อะไรลงไป ก็ลองออกมาพูดพร้อมกัน 10 เจ้าสัวเลยสิ! ใครจะมีปัญญาไปรังแกเจ้าสัวได้

ทั้งนี้ นายเศรษฐา ยังระบุว่า ตนยังไม่ใช่นักการเมือง เพราะบุคลิกยังไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นนักบริหารที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งการมาสู่จุดนี้มีปัจจัยสำคัญ 2 เรื่อง คือ เป้าหมาย (Target) และเวลา (Timeline) แต่ถ้าจะไปบริหารงานการเมือง คนเป็นหัวหน้าพรรคต้องมานั่งที่ล็อบบี้เพื่อรับเรื่องของ ส.ส.ที่ไปรับฟังปัญหามาจากชาวบ้าน ถ้าเป็นรัฐบาลก็เปิดทำเนียบรัฐบาลเป็นล็อบบี้ให้แต่ละกระทรวงส่งคนที่รู้เรื่องมาตั้งโต๊ะรับฟังปัญหาประชาชนทุกวัน อาจจะต้องลดงานตัดริบบิ้น งดการประชุมสัมมนาออกไปวันละ 2-3 ชั่วโมง แล้วนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีหมุนเวียนกันมาดู มารับฟังปัญหาโดยตรงว่าทำไมผักชีจึงแพง คือเราต้องลดขั้นตอนลง แต่เน้นที่ผลงานเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม แม้จะบอกว่าตัวเอง คือ นักบริหารที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่นักการเมือง แต่ นายเศรษฐา ก็ยังทิ้งท้ายการให้สัมภาษณ์แบบน่าสนใจว่า โดยส่วนตัวมองว่าการเลือกตั้งเที่ยวหน้า พรรคการเมืองต้องแข่งขันกัน 3 เรื่อง คือ 1.การแก้ปัญหาเรื่องรายได้และปากท้อง ไม่ใช่ปากท้องของเจ้าสัวนะ! 2.ความมั่นใจเรื่องสุขภาพ-สาธารณสุข และ 3.การแก้ปัญหาสังคม ความแตกแยกเกลียดชัง จะแก้ปัญหาชู 3 นิ้วอย่างไร? นี่คือเรื่องใหญ่ของสังคมไทย แต่พรรคไหนจะแลนด์สไลด์! มันอยู่ที่การแก้ปัญหาปากท้องง่าย ๆ ได้หรือไม่ มีความแน่วแน่ และเห็นความสำคัญเรื่องปากท้องของประชาชนมากแค่ไหน

ส่วนจะตัดสินใจเรื่องการเมืองอย่างไร? นายเศรษฐา ตอบว่า ยืนยันไม่ได้อยากเป็นนายกฯ และ ยังไม่มีใครมาชวนให้เข้าวงการ ดังนั้นจึงเป็นอะไรที่ตอบยาก แม้ว่าจะเคยคิดเล่นการเมืองเหมือนกัน แต่พอมาถึงจุดนี้มีคนถามกันมาก จึงขอให้เป็นเรื่องอนาคตดีกว่า เพราะถ้าตัดสินใจอะไรออกไป ก็ต้องรับได้กับหลายสิ่งหลายอย่างที่เราไม่ชอบ นี่คือปัญหาใหญ่.