สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ (นาซา) เผยแพร่รายงาน เกี่ยวกับผลลัพธ์ของภารกิจ “ดาร์ท” (Double Asteroid Redirection Test) ที่เป็นการส่งยานพุ่ง “สร้างแรงกระแทกอย่างรุนแรงโดยเจตนา” ด้วยความเร็วประมาณ 24,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้กับดวงจันทร์ดิมอร์ฟอส (Dimorphos) ซึ่งโคจรอยู่ห่างจากโลกประมาณ 11 ล้านกิโลเมตร เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ผ่านมา ปรากฏว่า “มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริง”


ทั้งนี้ ระยะเวลาการโคจรของดวงจันทร์ดิมอร์ฟอส รอบดาวเคราะห์น้อย “ดิดีมอส” (Didymos) สั้นลง 32 นาที จากเดิมอยู่ที่ 11 ชั่วโมง 55 นาที และวงโคจรระหว่างดวงจันทร์กับดาวเคราะห์ “เขยิบเข้าใกล้กันมากขึ้น” จึงสรุปได้ว่า ภารกิจดังกล่าวประสบความสำเร็จตามเป้าหมายเบื้องต้น นั่นคือ การเบี่ยงเบนวิถีวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยคู่ เพื่อ พัฒนาเทคโนโลยี ป้องกันการพุ่งชนของวัตถุจากนอกโลก

อย่างไรก็ตาม นาซาเน้นย้ำว่า ยังคงต้องมีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างละเอียดต่อไป แต่ความสำเร็จของภารกิจดาร์ทบ่งชี้ว่า มนุษยชาติมีศักยภาพเพียงพอในการจัดการกับดาวเคราะห์ขนาดประมาณดวงจันทร์ดิมอร์ฟอส เพื่อไม่ให้พุ่งเข้าชนโลกได้ แต่กุญแจสำคัญ คือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันตรวจจับความเคลื่อนไหวของวัตถุต้องสงสัยให้ได้แต่เนิ่น


อนึ่ง นาซาค้นพบดวงจันทร์ดิมอร์ฟอส ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 160 เมตร และดาวดิดีมอส ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 780 เมตร เมื่อปี 2539 และเลือกให้เป็นเป้าหมายของภารกิจดาร์ท เนื่องจากระยะห่างและวงโคจรของดาวทั้งสองดวง ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อโลก โดยยานสำหรับภารกิจดาร์ทออกเดินทางจากโลก เมื่อเดือน พ.ย. 2564 ใช้เวลาประมาณ 10 เดือน จึงถึงเป้าหมายตามกำหนด.

เครดิตภาพ : REUTERS