เมื่อวันที่ 28 พ.ย. นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนได้ประชุมคณะทำงานจัดทำนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับร่างนโยบายและจุดเน้นของ ศธ.เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565-2566 ตลอดจนเป็นไปตามสถานการณ์ยุคปัจจุบัน แผนงาน นโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาในทุกมิติ รวมทั้งมีสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับโลกยุคใหม่ ซึ่งนโยบายและจุดเน้นในการศึกษา 2567 นี้ ตนจะเสนอให้น.ส.ตรีนุช รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาลงนามประกาศเห็นชอบในเร็ว ๆ นี้

ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นั้น จะเน้นเรื่องการศึกษาเพื่อความปลอดภัย เพราะเป็นนโยบายสำคัญของ น.ส.ตรีนุช ที่ต้องการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยเรื่องความปลอดภัยของนักเรียนจะครอบคลุมทุกมิติ เช่น ความปลอดภัยจากการเดินทาง ความรุนแรง การคุกคามทางเพศ เป็นต้น ซึ่งจุดเน้นเรื่องนี้จะมีข้อกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยให้ชัดเจนมากขึ้น ดังนั้นศูนย์ความปลอดภัยของกระทรวงศึกษาธิการ หรือ MOE Safety Center นั้นจะต้องมีบทบาทและแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานเรื่องนี้ให้ชัดเจน รวมถึงการยกระดับคุณภาพการศึกษาไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรียนการสอนผ่านกระบวนการ Active Learning การเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกช่วงวัย และการแก้ปัญหาเรื่องภาวะการเรียนรู้ถดถอย และการสร้างมาตรฐานการเรียนแบบโฮมสคูล และการสร้างโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากที่ผ่านมาเราได้สำรวจเด็กยากจนพบ 1.3 ล้านคน ที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาและไม่ทำงาน หรือที่เรียกว่า กลุ่ม NEET โดยในเด็กกลุ่มนี้ตนจะใช้อาสาสมัคร ศธ.ลงพื้นที่ค้นหา เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้อ่านออกเขียนได้ หรือสร้างกิจกรรมให้เหมาะสมทุกช่วงวัย เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้และการมีงานทำได้ในอนาคต อีกทั้งจุดเน้นดังกล่าวยังได้เพิ่มขีดความสามารถกำลังคนทักษะขั้นสูงด้วย

“นอกจากนี้ผมจะหารือกับ รมว.ศธ. ให้แก้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วย เนื่องจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ได้กำหนดตัวชี้วัดและแผนแม่บทด้านการปฎิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยสภาพัฒน์ไปกำหนดตัวชี้วัดสัดส่วนนักเรียนชั้นม.3 จะต้องมีผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ร้อยละ 50 ขึ้นไป ซึ่งในประเด็นนี้ขัดแย้งกับประกาศของศธ.ที่ได้ยกเลิการจัดสอบโอเน็ตไปแล้ว ซึ่งอาจสร้างความยุ่งยากและสับสนต่อผู้เรียนได้” ปลัด ศธ.กล่าว.