สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากกรุงวิลนีอุส ประเทศลิทัวเนีย เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ว่า ดัชนีความเท่าเทียมทางเพศปี 2565 ซึ่งเน้นเรื่องการดูแลเป็นใจความสำคัญ แสดงให้เห็นว่า การระบาดใหญ่ทำให้การดูแลอย่างไม่เป็นทางการ และการดูแลแบบไม่ได้รับค่าจ้างที่บ้านเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการสร้างแรงกดดันต่อผู้หญิง

รายงานระบุว่า ผู้หญิงในการสำรวจมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ ขณะทำงานทางไกล มากกว่าผู้ชาย โดยมารดาที่ทำงานทางไกลโดยเฉลี่ย 20% ไม่สามารถทำงานนาน 1 ชั่วโมง โดยที่บุตรไม่เข้ามาขัดจังหวะได้ เมื่อเทียบกับสัดส่วนของบิดาที่ทำงานทางไกล ซึ่งอยู่ที่ 15%

นอกจากนี้ การชะงักงันของการจัดหาบริการดูแลเด็กยังส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้หญิงด้วย ทำให้พวกเธออาจตัดสินใจลดชั่วโมงการทำงาน, ขาดงาน, หยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง หรือลาออกจากงานไปเลย

“ในขณะที่ผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างเต็มขอบเขตยังคงเกิดขึ้น แต่ผู้หญิงทั้งช่วงก่อนและช่วงตลอดการระบาดใหญ่ มีแนวโน้มที่จะตกงาน หรือทำงานน้อยกว่าที่พวกเธอต้องการ” รายงานระบุ

ด้านอีไอจีอีกล่าวว่า ผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งผู้มีอำนาจ มีส่วนผลักดันการเติบโตที่เล็กน้อยนี้อย่างมาก แม้พวกเธอจะยังคงถูกมองข้ามในการเมืองก็ตาม โดยผู้หญิงมีสัดส่วนเพียง 1 ใน 3 ของสมาชิกสภานิติบัญญัติระดับภูมิภาค, ท้องถิ่น หรือเทศบาล และคิดเป็น 33% ของสมาชิกรัฐสภาของประเทศ

ทั้งนี้ อีไอจีอีกล่าวเสริมว่า ในหมู่ผู้มีอำนาจตัดสินใจที่สำคัญขององค์กรขนาดใหญ่และสถาบันการเงินในสหภาพยุโรป (อียู) ปัญหาช่องว่างระหว่างเพศยังคงมีอยู่ โดยผู้หญิงมีอัตราส่วนเป็นผู้บริหารสูงสุด 8%, ผู้บริหาร 21% และผู้ที่ไม่ใช่ผู้บริหาร 34% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้.

เครดิตภาพ : REUTERS