เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่รัฐสภา นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวว่า ในการประชุม กมธ. วันที่ 17 ม.ค.66 มีวาระการพิจารณา เรื่อง รายงานการปฏิรูปประเทศและรายงานจากสถาบันพระปกเกล้า เรื่องการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ทั้งประเด็นการแก้มาตรา 158 เรื่องวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกรัฐมนตรี มาตรา 159 เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. และมาตรา 272 เกี่ยวกับยกเลิก ส.ว.ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี หรือเรื่องการแก้ปัญหาองค์ประชุมสภาล่ม โดยกล่าวย้ำที่จะศึกษาทุกประเด็นอย่างรอบด้าน ก่อนที่จะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา

นายเสรี กล่าวยืนยันว่า ในประเด็นในการศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้เจาะจงหรือเอื้อประโยชน์ให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเพียงประเด็นการศึกษาและนำสู่สาธารณะเพื่อแสดงความเห็นการวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมืองและประชาชน โดยยังไม่ได้มีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญในเวลานี้ ซึ่งเห็นว่ากระบวนการแก้ไม่ได้ดำเนินการได้โดยง่าย เพราะมีขั้นตอนตามที่เงื่อนไขกำหนดกำหนดไว้ทั้งเสียงวุฒิสภาเห็นชอบ 1 ใน 3 รวมถึงเสียงของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ร้อยละ 20 อย่างไรก็ตาม การแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นแก้ยาก และหากต้องการแก้ให้สำเร็จ ทุกฝ่ายต้องหันหน้าพูดคุยกันตกลงกัน สร้างความสามัคคีปรองดอง ในมวลหมู่การเมืองและประชาชน เพราะไม่สามารถที่จะเสนอเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ การเสนอต้องมีความตั้งใจเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง หากมีการพูดจาเสียดสีด่าทอให้ร้าย หรือเอาแต่ประโยชน์ของพรรคการเมืองตัวเองก็คือการทะเลาะกัน จะไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้เลยซักประเด็นเดียว

“ในกระบวนการของการ จะแก้ให้เป็นประโยชน์กับ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นไปไม่ได้เลย เราไม่ได้เสนอเพื่อจะแก้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ แต่เพียงผู้เดียว และไม่รู้ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ไม่รู้พรรคไหนจะได้เสียง ส.ส.จำนวนเท่าไหร่ เราทำตามหน้าที่ และมองว่าทุกพรรคการเมืองได้ประโยชน์เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประโยชน์คนเดียว เพราะหาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้เป็นนายกฯ ก็สามารถที่จะเป็นได้ยาวเช่นกัน เลือกตั้งครั้งหน้ายังไม่รู้เลยว่าพรรคไหนจะได้เท่าไหร่ พรรคของ พล.อ.ประยุทธ์ จะได้ ส.ส.กี่คนก็ไม่รู้ จะไปกังวลทำไม ถ้ากังวลเท่ากับว่ากลัว หรือคิดว่าจะเป็นฝ่ายค้านไปตลอดหรือ”

นายเสรี ยังกล่าวถึงกรณีกระแสข่าวที่การแบ่งฝั่งของ ส.ว. เป็น 2 ขั้ว ในการเลือกหนุน พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ว่า การแบ่งเป็น 2 ฝั่งจริง และยอมรับตามสภาพว่า ส.ว. ชุดนี้มาจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งใน คสช. มีผู้หลักผู้ใหญ่หลายคน เพราะฉะนั้น การเสนอชื่อในการเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากคนคนเดียว ขณะนี้อาจมีแนวทางความเห็นหลายกลุ่ม หลายพวก แต่เชื่อว่าในท้ายที่สุดจะมีเสียงแตกออกไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งโดยรวมส่วนใหญ่ วุฒิสภาจะต้องเอาประเทศ เอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง การที่จะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นหน้าที่สำคัญของ ส.ว. ซึ่งมีวาระ 5 ปี จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมาทำหน้าที่นี้

ดังนั้น ต้องมีสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่ หากเสนอคนดีเข้ามาก็ต้องสนับสนุน แต่หากดูแล้วมีปัญหาสร้างความแตกแยก อยู่ในกลุ่มทุจริตคอร์รัปชั่น เล่นการเมือง ไม่ได้เห็นผลประโยชน์ของบ้านเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลในการตัดสินใจ ย้ำว่าส่วนใหญ่ ส.ว.จะเป็นไปในทางทิศทางเดียวกัน

เมื่อถามว่า สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีการแข่งกัน ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร หรือไม่นั้น นายเสรี กล่าวว่า เมื่อเป็นพรรคแยกกันแล้ว อย่างไรก็แข่งกันทำงานทั้งนั้น แต่เวลาแข่งกันแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าสามารถที่จะเอาฝ่ายการเมืองของแต่ละพื้นที่มาอยู่ที่พรรคตนเองได้มากน้อยแค่ไหน

“คนเก่งอย่างไร คนดีอย่างไร ถ้าไม่มีหัวคะแนน ไม่มีพรรค ไม่มีพวก ไม่เคยสร้างคุณงามความดีมาก่อน ก็ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ ดังนั้นเมื่อแยกกันเดินแล้ว แต่ละคนก็ต้องหาคนที่มีคะแนนเสียงมาอยู่กับพรรคของตนเอง ขึ้นอยู่กับว่ามากน้อยแค่ไหน และวิธีไหน และนั่นคือคำตอบว่าพรรคไหนได้คะแนนมากแค่ไหน บางพรรคการเมืองมีนโยบายดี ประชาชนสนใจ ก็จะได้คะแนน แต่หากเสนอประเด็นเอาแต่สร้างความแตกแยก ปฏิรูปสถาบัน โดยไม่ได้ดูว่าวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างไร ผมคิดว่าก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้คะแนนเสียงจากประชาชน ดังนั้น แต่ละพรรคการเมืองก็ต้องมีกลยุทธ์และทิศทางของตนเอง เพื่อซื้อใจ ซื้อเสียงของประชาชนด้วยผลงานและนโยบายของตนเอง”

นายเสรี กล่าวต่อไปว่า จากการที่ ส.ว. ลงไปสังเกตการณ์ การเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ในแต่ละครั้ง พบว่ามีการใช้เงินจำนวนมาก แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากไม่มีหลักฐาน ประชาชนก็ไม่กล้าไปเป็นพยาน มองว่ามีโอกาสสูงที่จะใช้เงินในการเลือกตั้งครั้งหน้า ทั้งนี้ ต้องย้อนกลับไปดูกฎหมายว่าจะทำอย่างไร ไปๆ มาๆ คนที่กล้าซื้อเสียง กล้าทำผิดกฎหมาย สุดท้ายชนะทุกที ต้องกลับมาดูกฎหมาย เพราะกฎหมายผิดทั้งคนให้และคนรับ จึงไม่มีใครกล้าแสดงตัวออกมาเป็นพยาน ดังนั้นตนจึงเสนอว่า ผู้ที่ซื้อเสียงถือว่าผิดกฎหมาย แต่ผู้ที่รับเงินถือว่าไม่ผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงจะทำให้มีหลักฐานเอาผิดคนที่ซื้อเสียงได้ แต่ยังไม่มีใครกล้าทำ เพราะมองว่าเมืองไทยเก่งที่สร้างกลไกในการเอาคนผิดมาลงโทษไม่ได้.