เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้ากรณีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หลังถูกกล่าวหาเรียกรับผลประโยชน์จากข้าราชการหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติฯ ว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คงจะให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ แต่สรุปได้ว่าคณะกรรมการสอบวินัยนั้น มีระยะเวลา 30 วัน จะครบกำหนดในวันที่ 4 ก.พ. นี้ หากมีหลักฐานที่ทำให้เห็นชัดว่ามีเรื่องทุจริตแบบนี้ สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ เป็นไปตามมาตรา 101 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ประกอบกฎกระทรวง และระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยการสอบวินัย สามารถดำเนินการสั่งให้ออกจากราชการได้

แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อเกิดเรื่องแล้ว สามารถให้ออกได้ทันที เพราะต้องให้การสอบสวนดำเนินไปสักระยะหนึ่งก่อน ขณะนี้ได้ความว่า ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว ซึ่งนั่นเป็นหลักฐานอย่างหนึ่ง แต่ตนไม่ทราบว่ามีรายละเอียดอย่างไร

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามข้อมูลจากการสอบสวนจากกระทรวง ทส. ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง หากผลการสอบทั้ง 2 ด้านออกมาแล้วยืนยันกัน ก็สามารถนำไปสู่คำสั่งให้ออกจากราชการได้ ซึ่งเป็นอำนาจของปลัดกระทรวงฯ ไม่ใช่อำนาจของรัฐมนตรีว่าการฯ และไม่ใช่อำนาจของนายกรัฐมนตรี ยกตัวอย่างในอดีต เมื่อปี 61 เคยมีกรณีคล้ายกันนี้ คือ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รองปลัดกระทรวง พม. และอธิบดี พม. มีการทุจริตเงินช่วยเหลือสวัสดิการ โดยคำสั่งแรกคือคำสั่งให้มาประจำทำเนียบรัฐบาล เหมือนกับคราวของนายรัชฎานี้ แต่ยังไม่ให้ออกจากราชการ เพื่อให้ลุกจากเก้าอี้ตรงนั้น ก่อนจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบ เมื่อสอบไปแล้ว 30 วัน จึงเห็นสมควรสั่งให้ออกจากราชการ แต่การสอบวินัยยังดำเนินการอยู่ การสอบคดีอาญาก็ยังดำเนินการ กระทั่งสอบวินัยแล้วพบว่าผิดจริง ก็ไล่ออกจากราชการ ส่วนคดีก็ฟ้องร้องขึ้นศาลกันต่อไป ซึ่งเป็นแบบเดียวกันกับกรณีนี้