รายงานข่าวจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) แจ้งว่า ขณะนี้ภาพรวมงานก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานตรัง พื้นที่กว่า 3 หมื่นตารางเมตร (ตร.ม.) วงเงิน 1,070 ล้านบาท มีความคืบหน้าประมาณ 80% คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือน มิ.ย. 66 จากนั้นจะดำเนินการตรวจสอบความพร้อมของระบบต่างๆ ใช้เวลาอีก 3-4 เดือน หากไม่พบปัญหาใด จะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) หรือประมาณเดือน ต.ค. นี้ ซึ่งอาคารผู้โดยสารหลังใหม่นี้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานตรังได้มากขึ้น จากเดิม 600 คนต่อชั่วโมง (ชม.) หรือ 1.7 ล้านคนต่อปี เพิ่มเป็น 1,200 คนต่อ ชม. หรือ 3.4 ล้านคนต่อปี

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า การออกแบบสถาปัตยกรรมอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เน้นความเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ ผสมผสานกับความทันสมัย และรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น หลังคาเป็นแบบมัสยิดตะโละมาเนาะ ซึ่งเป็นศาสนสถานเก่าแก่ในศาสนาอิสลาม มีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม สร้างแบบศิลปะไทยพื้นเมืองประยุกต์ ผสมผสานศิลปะแบบจีน และมลายู นอกจากนี้ยังนำลวดลายของหนังตะลุง และมโนราห์ ศิลปะการแสดงประจำท้องถิ่นภาคใต้ มาตกแต่งส่วนต่างๆ ภายในอาคาร รวมทั้งบริเวณโดยรอบอาคารจะจัดเป็นพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้ เพื่อสร้างความร่มรื่น และให้ความร่มเงา

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับกระแสสังคมที่มองว่า สีหลังคาไม่ตรงกับแบบที่ก่อสร้างไว้นั้น ทย. ขอชี้แจงว่า โมเดลของอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ที่ตั้งไว้อยู่ที่อาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบันนั้น มีหลังคาสีเทาตัดกับสีน้ำตาลจริง ซึ่งโมเดลนี้จัดทำไว้ตั้งแต่ยังไม่ได้รับงบประมาณในการดำเนินการ แต่ภายหลังได้รับงบฯ มีการหารือร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง จึงปรับแบบในส่วนของสีหลังคาให้เหมาะสม สวยงามมากขึ้น และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของ จ.ตรัง ที่เป็นเมืองแห่งท้องทะเล ซึ่งก่อนเครื่องบินถึงท่าอากาศยานตรัง ก็จะได้เห็นน้ำทะเล ดังนั้นจึงเปลี่ยนเป็นสีฟ้าให้สอดรับกัน อีกทั้งจะทำให้ตัวอาคารมีความสว่างสดใส ไม่ทึบเหมือนสีเดิม อย่างไรก็ตาม ทย. ต้องขออภัยด้วย ที่ไม่ได้ไปเปลี่ยนสีหลังคาของโมเดลที่ตั้งไว้เดิม ให้เป็นสีหลังคาเดียวกับแบบปัจจุบัน

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ส่วนการต่อเติมความยาวทางวิ่ง (รันเวย์) ท่าอากาศยานตรัง จาก 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน วงเงิน 1,800 ล้านบาทนั้น ขณะนี้มีความคืบหน้าประมาณ 14% โดยผู้รับจ้างยังคงดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่เดิมของท่าอากาศยานประมาณ 1,659 ไร่ไปก่อน ส่วนพื้นที่เวนคืนที่ดินในส่วนที่ต้องเพิ่มเติม ในท้องที่ ต.ควนธานี อ.กันตัง และ ต.โคกหล่อ ต.ควนปริง อ.เมืองตรัง จ.ตรัง รวม 675 ไร่ 239 แปลงนั้น ปัจจุบันคณะกรรมการกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์ อยู่ระหว่างการกำหนดราคาจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ. นี้ โดยงบประมาณที่ใช้เวนคืนอยู่ที่ประมาณ 800 ล้านบาท เบื้องต้นมีผู้ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน 241 ราย

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า คาดว่ากลางปี 66 จะสามารถส่งมอบพื้นที่เพิ่มเติมให้ผู้รับจ้างดำเนินการต่อเติมความยาวรันเวย์ในพื้นที่เวนคืนได้ ซึ่งตามแผนจะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 68 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับอากาศยานที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น โบอิ้ง B747, โบอิ้ง B777 และแอร์บัส A330 ขนาด 300-400 ที่นั่ง สามารถบินตรงไปยังประเทศในแถบยุโรป และแถบเอเชียได้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และการคมนาคมขนส่งทางอากาศของ จ.ตรัง และจังหวัดใกล้เคียง ปัจจุบันผู้โดยสารท่าอากาศยานตรังอยู่ที่ 1,500-1,600 คนต่อวัน วันละ 10-12 เที่ยวบิน (ไป-กลับ) ขณะที่ก่อนเกิดโควิด-19 ปี 62 ผู้โดยสารอยู่ที่กว่า 2,000 คนต่อวัน และมี 16 เที่ยวบินต่อวัน (ไป-กลับ)