สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ว่า แม้การวิจัยครั้งก่อนหน้าพบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้คลื่นความร้อนคงอยู่ยาวนานขึ้น เกิดบ่อยขึ้น และรุนแรงยิ่งขึ้น แต่รายงานฉบับใหม่แสดงถึงความแตกต่าง โดยระบุว่า คลื่นความร้อนเป็นรูปแบบสภาพอากาศ ที่เคลื่อนตัวตามกระแสอากาศ เช่นเดียวกับพายุ

ทีมนักวิจัยพบว่า ช่วงเวลาทุก ๆ 10 ปี ระหว่างปี 2522-2563 คลื่นความร้อนเคลื่อนที่ช้าลงโดยเฉลี่ยวันละ 8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งนายเว่ย จาง ผู้เขียนอาวุโสของงานศึกษา จากมหาวิทยาลัยยูทาห์ กล่าวเสริมว่า หากคลื่นความร้อนเคลื่อนตัวช้ากว่าเดิม นั่นหมายความว่า ความร้อนสามารถคงอยู่ในภูมิภาคได้นานขึ้น และส่งผลกระทบต่อชุมชนต่าง ๆ

ทั้งนี้ นักวิจัยใช้เครื่องมือและวิธีการต่าง ๆ ในการวัดความเคลื่อนไหวของคลื่นความร้อนในช่วงเวลาต่าง ๆ เพื่อระบุความเร็วของอากาศร้อน ตลอดจนพิจารณาถึงผลลัพธ์ ในกรณีไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ซึ่งพวกเขาพบว่า ปัจจัยที่มนุษย์สร้างขึ้น มีผลกระทบอย่างมาก ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

“สำหรับเรา มันค่อนข้างชัดเจนว่า ปัจจัยสำคัญในการอธิบายแนวโน้มนี้เกิดจากมนุษย์ นั่นคือ ก๊าซเรือนกระจก” เว่ย กล่าวเพิ่มเติม

การเปลี่ยนแปลงข้างต้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษ นับตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งนอกจากสาเหตุที่มาจากน้ำมือของมนุษย์แล้ว การไหลเวียนของอากาศในบรรยากาศชั้นบนที่อ่อนกำลัง ก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องเช่นกัน

อนึ่ง ผู้เขียนงานศึกษาระบุว่า ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า คลื่นความร้อนขนาดใหญ่ที่เคลื่อนตัวช้ากว่า และเดินทางได้ไกลกว่า จะทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อระบบธรรมชาติและสังคมในอนาคต หากระดับก๊าซเรือนกระจกยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่มีมาตรการบรรเทาผลกระทบที่มีประสิทธิภาพ.

เครดิตภาพ : AFP