กลายเป็นประเด็นที่เรียกความสนใจให้กับ “ชาวโซเซียล” เลยทีเดียว เมื่อ “เจ้าพ่อเฟซบุ๊ก” คือ “มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” ซีอีโอของ เมตา อิงค์ บริษัทแม่ของ เฟซบุ๊ก และ อินสตาแกรม (ไอจี) โซเซียลมีเดียยักษ์ใหญ่ระบบโลก ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว

โดยประกาศว่า เมตา มีแผนการที่จะ เก็บค่าบริการใช้สัญลักษณ์รับรองบัญชีอย่างเป็นทางการ (Meta Verified) โดยจะคิดค่าบริการรายเดือนขั้นต่ำที่ 11.99 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 408 บาท) ต่อ 1 บัญชี สำหรับการใช้งานบนเว็บไซต์ และ 14.99 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 514 บาท) หากใช้งานผ่านระบบปฏิบัติการไอโอเอสหรือแอนดรอยด์ โดยจะเริ่มเปิดให้ใช้ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ภายในสัปดาห์นี้ หลังจากนั้นจะเปิดให้ใช้ในสหรัฐและประเทศอื่นต่อไป

เก็บเพื่อช่วยเพิ่มความปลออดภัย?

 “มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” ระบุว่า ฟีเจอร์ใหม่นี้จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือว่าเป็นบัญชีของผู้ใช้งานที่มีตัวตนจริง และช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานได้มากขึ้น ผู้ที่สมัครใช้บริการนี้จะได้รับเครื่องหมายรับรองที่ยืนยันว่าเจ้าของบัญชีมีตัวตนจริง มีสิทธิประโยชน์คือจะได้รับการคุ้มครองในกรณีที่มีผู้อื่นปลอมแปลงบัญชี สามารถเข้าถึงศูนย์บริการ ช่วยเหลือลูกค้าได้โดยตรง และได้รับโอกาสในการมองเห็นบนหน้าข่าวสารมากขึ้น โดยผู้สมัครต้องส่งหลักฐาน ซึ่งก็คือบัตรประชาชนหรือบัตรระบุตัวตนอื่น ๆ ที่ออกให้โดยรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ ผู้สมัครใช้บริการนี้จะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น และยังไม่เปิดให้บริการสำหรับบัญชีธุรกิจ

ภาพ pixabay.com

ยันไม่กระทบผู้ใช้งานทั่วไป-เพจธุรกิจ

ทั้งนี้ทาง “เดลินิวส์” ได้สอบถามไปยัง เฟซบุ๊ก ประเทศไทย ถึงกรณีดังกล่าว ทาง เฟซบุ๊ก ประเทศไทย อธิบายรายละเอียด ว่า  “Meta Verified คือ แพ็กเกจระบบสมาชิกแบบใหม่ สำหรับบัญชีของครีเอเตอร์ (นักสร้างคอนเทนต์) ที่ต้องการสร้างชื่อเสียงและฐานผู้ติดตามในชุมชนได้เร็วยิ่งขึ้น

ทั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อบัญชีผู้ใช้ทั่วไป เพจธุรกิจ และ/หรือเพจต่าง ๆ โดยฟีเจอร์นี้จะมาพร้อมกับแบดจ์ยืนยันตัวตน ซึ่งผูกบัญชีผู้ใช้กับบัตรประชาชน และช่วยปกป้องบัญชีแบบเชิงรุกยิ่งขึ้น สามารถเข้าถึงการสนับสนุนด้าน การดูแลบัญชีและอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย โดยช่วงปลายสัปดาห์นี้ จะมีการทดสอบในเบื้องต้นในประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ซึ่งในระหว่างที่มีการทดสอบฟีเจอร์ใหม่นี้ ขอเน้นย้ำว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ สำหรับบัญชีของครีเอเตอร์บน Instagram และ Facebook ที่ได้รับการยืนยันตัวตนของบัญชีตามกฎระเบียบและเงื่อนไขก่อนหน้านี้

มีต้นทุนอยากให้ดูแลพิเศษต้องจ่าย!!

อย่างไรก็ตามทาง “เดลินิวส์” ได้สอบถามประเด็นนี้กับทาง ผู้ที่ได้ชื่อว่า “พ่อมดวงการไอที” ของไทย อย่าง “ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ ตลาดดอทคอม (TARAD.com) ให้มุมมองว่า การที่เมตาออกมาประกาศ จะเก็บค่าบริการใช้สัญลักษณ์ รับรองบัญชี นั้น

มองว่า ปัจจุบันเฟซบุ๊กเป็นบริการฟรี มีคนใช้ทั่วโลกหลายพันล้านคน การที่ผู้ใช้งาน จะติดต่อเฟซบุ๊กโดยตรงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ขณะที่การนำพนักงานมารองรับให้บริการมีต้นทุน จึงเปิดบริการนี้ และนำเงินที่ได้มารองรับต้นทุนส่วนนี้

“คนจ่ายเงินเมื่อติดต่อไป ก็จะมีคนดูแลที่พิเศษขึ้น จากเดิมที่ติดต่อได้ยาก นอกจากนี้ยังเป็นการยังช่วยยืนตัวตนว่า ผู้ใช้งานบัญชีนั้นเป็นใคร แก้ปัญหาเรื่องบัญชีปลอม และช่วยให้รู้ว่าบัญชีไหนเป็นของผู้ใช้งานคนนั้นจริงๆ เรียกว่า ทุกอย่างยังใช้งานเหมือนเดิม แต่หากอยากได้บริการดีขึ้นก็ต้องจ่าย”

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

เก็บ 400- 500 บาทต่อเดือน แพงไป!?!

ทั้งนี้ ทาง “ภาวุธ” มองว่า บริการนี้ ไม่แตกต่างกับบริการยืนยันตัวตนของทวิตเตอร์ที่ ‘อีลอน มัสก์’ เจ้าของทวิตเตอร์ คนใหม่ ประกาศเก็บไปก่อนหน้านี้ โดยส่วนตัวมองว่า การที่ เมตา ประกาศ คิดค่าบริการ 400-500 บาทต่อเดือน หรือปีละ 6,000 บาท นั้นแพงเกินไป ซึ่งส่วนหนึ่งคงเป็นการหารายได้เพิ่มของเฟซบุ๊กด้วย จากที่ผ่านมา รายได้ตกลง แม้ว่าตอนนี้จะเริ่มให้บริการกับบัญชีส่วนบุคคล และไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลมีชื่อเสียงก็ใช้บริการได้ และเริ่มในออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ก่อน หากประสบความสำเร็จ เชื่อว่าในอนาคตจะมีการขยายบริการไปยังบัญชี หรือเพจเกี่ยวกับธุรกิจอย่างแน่นอน

คาดคนไทยยอมจ่ายไม่ภึง 10%

จากที่ประเทศไทยใช้เฟซบุ๊กติดอันดับโลกนั้น ทางผู้บริหารชอง ตลาดดอทคอม วิเคราะห์ว่า สำหรับในไทย คาดว่าจะมีการเปิดให้บริการตามมาไม่เกิน 1-2 เดือนต่อจากนี้ เพราะไทยติดอันดับโลกของใช้เฟซบุ๊ก และที่ผ่านมา เมื่อมีบริการใหม่ๆ จะเลือกไทยเป็นประเทศแรกๆ ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามมองว่าจะมีคนไทยสมัครไม่ถึง 5-10% โดยจะเป็นกลุ่มคนที่ใช้เฟซบุ๊ก หรือ ไอจี ในการหารายได้ หรือต้องการยืนยันตัวตนเพิ่มความน่าเชื่อถือ ถึงจะยอมจ่าย

ภาพ pixabay.com

เรียกง่าย คือ เป็นคนที่ “ต้องมีรายได้จากเฟซบุ๊กหรือ ไอจี” หรือ “ใช้เพื่อประกอบอาชีพที่ต้องการความน่าเชื่อของบัญชี” ซึ่งก็มีข้อดี คือ เมื่อมีคนมายืนยันตัวตนมากขึ้น “สังคมบนเฟซบุ๊ก ก็ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น”  

ว่าเรากำลังคุยกับเจ้าของบัญชีคนนั้นจริงๆ ช่วยกรอง หรือลดบัญชีปลอมลงได้!?!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์