เมื่อวันที่ 23 ก.พ. เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากโรงเรียนนราทร กทม. แจ้งปิดกิจการกะทันหัน ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ในฐานะที่ดูแลกำกับโรงเรียนเอกชนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) เพื่อขอให้เยียวยาหาทางออกให้แก่ผู้ปกครองและนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการของโรงเรียนกว่า 600 คน โดยตัวแทนผู้ปกครองนักเรียนรายหนึ่ง กล่าวว่า วันนี้กลุ่มผู้ปกครองของโรงเรียนนราทรที่ได้รับผลกระทบได้ยื่นข้อเรียกร้อง 8 ข้อ เพื่อให้ สช. ช่วยพิจารณาดำเนินการหาทางออกให้ คือ 1.โรงเรียนนราทรเปิดให้บริการ 2 ระดับการศึกษา ได้แก่ ระดับอนุบาล และประถมศึกษา ซึ่งเมื่อวันที่ 16 ก.พ. โรงเรียนมีหนังสือถึงผู้ปกครองว่าจะปิดกิจการในปีการศึกษา 2566 ทำให้ผู้ปกครองของนักเรียนทั้งโรงเรียนได้รับผลกระทบ 2.ผู้บริหารโรงเรียนไม่มีความรับผิดชอบบ่ายเบี่ยงที่จะเจรจากับผู้ปกครอง และไม่มีมาตรการเยียวยาใดๆ ออกมา 3.ผลกระทบจากการแจ้งปิดกิจการของโรงเรียนกะทันหันนี้ ทำให้ผู้ปกครองหาที่เรียนไม่ทัน นักเรียนเสียสิทธิในการสมัครเข้าเรียน อีกทั้งยังเสียสิทธิได้รับเงินสนับสนุนการศึกษาจากรัฐบาล 4.ผู้ปกครองเสียหายจากการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการไปสมัครเรียนใหม่ 5.ผู้ปกครองเสียค่าใช่จ่ายซื้อชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียนกับโรงเรียนนราทรไว้ล่วงหน้าแล้ว 6.ผู้ปกครองหลายคนเป็นหนี้จากการที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับโรงเรียนใหม่

7.โรงเรียนนราทรมมีพฤติกรรมน่าสงสัย เนื่องจากแจ้งผ่านครูประจำชั้นให้ผู้ปกครองกรอกเอกสารคำร้องขอย้ายโรงเรียน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วผู้ปกครองไม่ได้จะย้ายโรงเรียน แต่เป็นเพราะโรงเรียนปิดกิจการ ผู้ปกครองเพียงแค่รอรับเอกสารรับรองการศึกษาและสมุดพกเท่านั้น ซึ่งโรงเรียนปฏิบัตืเหมือนผู้ปกครองยินดิย้ายบุตรหลายไปเรียนที่อื่นเอง และ 8.นักเรียนหลายคนมีอาการซึมเศร้า เนื่องจากต้องแยกย้ายจากเพื่อนร่วมชั้นเรียนกะทันหัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจเด็กอย่างรุนแรง

“ที่ผ่านมาผู้บริหารโรงเรียนไม่ได้มีการชี้แจงหรือแสดงความรับผิดชอบใดๆ กรณีที่เกิดขึ้น ผู้ปกครองและนักเรียนได้รับความเดือดร้อน เพราะหาโรงเรียนเข้าเรียนกลางภาคเรียนไม่ทัน ซึ่งได้ไปสมัครเข้าโรงเรียนอีกแห่งหนึ่งของรัฐที่ใกล้บ้านแล้ว แต่โรงเรียนแจ้งว่านักเรียนเต็ม อีกทั้งอยู่ในช่วงสอบปลายภาคเรียนที่ 2 ขณะที่โรงเรียนเอกชนที่โรงเรียนเดิมจัดสรรให้บางแห่งตั้งอยู่ไกลบ้าน ไม่สะดวกต่อการเดินทาง รวมถึงมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ซึ่งเท่ากับว่าผู้ปกครองต้องเสียค่าใช่จ่ายเพิ่มเติมซ้ำซ้อน ทั้งนี้ โรงเรียนไม่มีการเรียกประชุมผู้ปกครอง เพื่อหาทางออกถึงเรื่องนี้แต่อย่างใดด้วย” ตัวแทนผู้ปกครอง กล่าว

ด้านนายมณฑล กล่าวว่า สช. พร้อมเป็นคนกลางช่วยประสานงานหาที่เรียนให้เด็กที่รับผลกระทบและทางออกในเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นจะต้องดูตามข้อเท็จจริง เพราะโรงเรียนชี้แจงเหตุผลว่าที่ต้องปิดการนั้นมาจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เกิดสภาพคล่องทางการเงิน ดังนั้นหากจะเปิดโรงเรียนจัดการศึกษาต่ออาจส่งผลกระทบกับคุณภาพการศึกษาและคุณภาพผู้เรียน ซึ่งยอมรับว่าโรงเรียนบกพร่องที่ไม่แจ้งให้ผู้ปกครองรับทราบล่วงหน้ามาก่อน โดยขณะนี้ สช. ยังไม่ได้อนุมัติให้โรงเรียนนราทรยกเลิกกิจการ เนื่องจากอยู่ในกระบวนการพิจารณา