เริ่มตั้งแต่ การส่งสัญญาณของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ออกมาประกาศชัดถึงไทม์ไลน์ยุบสภาในช่วงเดือน มี.ค. ก่อนวันที่ 23 มี.ค. ซึ่งจะเป็นวันครบอายุของสภา เพื่อให้ทันเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ค. ตามหมุดหมายที่ กกต. ประกาศไว้  

งานนี้มีกระแสข่าวว่า “บิ๊กตู่” วางไทม์ไลน์ยุบสภา โดยเลือกฤกษ์ “วันธงชัย” ในวันที่ 15 มี.ค. 2566 ซึ่งตรงกับวันพุธ ถือเป็นวันฤกษ์ วันธงชัยและเป็นฤกษ์ดี ตามความเชื่อจีนโบราณ ที่เชื่อกันว่าหากทำสิ่งใดในวันดังกล่าว มีเกณฑ์ที่จะประสบความสำเร็จ การงานเจริญรุ่งเรือง ถือเป็นฤกษ์ดีในการประกอบพิธีมงคลและเริ่มต้นสิ่งใหม่

โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังการยุบสภานั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงต่อที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา เรื่องกรอบเวลาการเลือกตั้ง โดยหากสภาครบวาระ ให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน นับจากวันที่สภาสิ้นอายุ แต่หากกรณียุบสภาจะต้องกำหนดวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะสภาครบวาระหรือยุบสภา คาดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในต้นเดือน พ.ค. และประกาศผลการเลือกตั้งได้ในเดือน ก.ค. และขั้นตอนต่อไปจะเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเปิดสภาผู้แทนราษฎร และตั้งประธานสภา จะเกิดขึ้นกลางเดือน ก.ค. จากนั้นจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ในช่วงปลายเดือน ก.ค. หลังจากนั้นจะจัดตั้ง ครม. และ ครม.ชุดใหม่จะถวายสัตย์ปฏิญาณตนในต้นเดือน ส.ค. 2566

ดังนั้น ถ้าดูตามกรอบเวลาดังกล่าว ก็จะเห็นภาพชัดเจนว่า ไม่ว่าสภาครบวาระหรือยุบสภา รัฐบาลชุดนี้จะยังรักษาการไปอีกประมาณ 4 เดือนครึ่ง จนถึงต้นเดือน ส.ค. 2566 จนกว่า ครม.ชุดใหม่จะเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน

โดยในระหว่างนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีในช่วงรัฐบาลรักษาการนั้น จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข 1.จะต้องไม่อนุมัติงานหรือโครงการที่ไม่สร้างความผูกพันกับ ครม.ใหม่ ยกเว้นเป็นเรื่องที่อยู่ในงบประมาณประจำปี 2.จะต้องไม่แต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการ พนักงาน หรือให้พ้นตำแหน่ง เว้นแต่ได้รับการเห็นชอบจาก กกต. 3.ไม่อนุมัติใช้งบกลางเว้นแต่จะได้รับการเห็นชอบจาก กกต. และ 4.ไม่ใช้ทรัพยากร บุคลากรกระทำการที่มีผลต่อการเลือกตั้ง ไม่ฝ่าฝืนระเบียบของ กกต. เช่น ไม่ใช้ตำแหน่งเอาเปรียบพรรคอื่น ไม่จัดโครงการที่เอาเปรียบ ไม่มีการประชุม ครม.สัญจร ไม่จัดประชุมที่ใช้งบของรัฐเว้นแต่จะตัดตามวาระปกติอยู่แล้ว ไม่โอนงบประมาณเพื่อทำในลักษณะแจกจ่ายให้กับประชาชน และไม่ใช้ทรัพยากร หรือบุลคลของรัฐเอาเปรียบพรรคอื่น ๆ

ปรับโฟกัสไปที่สนามเลือกตั้ง มีการขับเคี่ยวชิงคะแนนนิยมกันแบบถึงพริกถึงขิง โดยล่าสุด สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เผยแพร่ผลสำรวจ เรตติ้ง “บิ๊กตู่” หลังจบเวทีอภิปรายทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ซึ่งปรากฏตัวเลขคะแนนนิยมม “บิ๊กตู่” ดีดตัวสูงขึ้น สูสีกับคะแนนนิยมของ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่มีคะแนนนิยมอยู่ที่ร้อยละ 28.5 ขณะที่ “บิ๊กตู่” มีคะแนนนิยมอยู่ที่ ร้อยละ 25.7

แม้ตัวเลขผลโพลดังกล่าวจะชี้ให้เห็นว่า “บิ๊กตู่” มีคะแนนเพิ่มขึ้นหลังจบเวทีอภิปรายทั่วไป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากคะแนนนิยมแล้ว “บิ๊กตู่” ยังได้แผลสด จากการอภิปรายทั่วไปครั้งล่าสุดด้วยเช่นกัน

โดยเฉพาะกรณีที่ถูกอภิปรายพาดพิงถึงหลานชาย (ลูกชายของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา) ที่มีความสัมพันธืทางธุรกิจกับกลุ่มทุนจีนที่ตกเป็นข่าวอื้อฉาวในช่วงที่ผ่านมา แม้ประเด็นร้อนดังกล่าว “บิ๊กตู่” จะชี้แจงกลางสภาโดยปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนจีนอื้อฉาว แต่คำถามและข้อสงสัยที่เกิดขึ้นยังถูกพูดถึงในสังคมอย่างแพร่หลาย ดังนั้น ก็กลายเป็นการบ้านที่ “บิ๊กตู่” จะต้องกลับไป “ปิดแผล” ที่เกิดขึ้น เพื่อรักษาเรตติ้งก่อนสังเวียนเลือกตั้งจะเปิดขึ้น

ประกอบกับกรณี นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองชื่อดัง บุกทำเนียบรัฐบาลนำข้อมูลการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐในหลายกระทรวง เข้าร้องเรียนต่อ “บิ๊กตู่” โดยมีการชี้เป้าเรื่องการทุจริตการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม การทุจริตภายในกรมอุทยานแห่งชาติทับลาน และปัญหาเครือข่ายพนันออนไลน์ จนทำเอา “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ต้องออกมาเหน็บว่าบางพรรคพา นายชูวิทย์ เข้าทำเนียบ หวังสาดโคลนดิสเครดิตทางการเมือง!

ซึ่งเป็นโจทย์ที่รัฐบาล รัฐมนตรี และคนที่เกี่ยวข้องจะต้องหาคำตอบให้กับสังคม เพราะตอนนี้ นายชูวิทย์ กลายเป็นคนที่สังคมกำลังจับจ้องและพร้อมจะรับฟังข้อมูล ดังนั้นรัฐบาลควรจะต้องทำเรื่องที่ถูก “ชี้เป้า” ให้เกิดความกระจ่างมากที่สุด เพื่อปิดจุดอ่อนก่อนการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตามแม้ “บิ๊กตู่” จะประกาศไว้หลายต่อหลายครั้งว่า ตัวเองไม่เคยทุจริตแม้แต่บาทเดียว แต่ก็ถึงเวลาที่จะต้องมองดูคนรอบข้างและพรรคร่วมรัฐบาลว่า มีอะไรที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งถือเป็นโอกาสสุดท้ายที่ “บิ๊กตู่” จะสวมบท “อัศวินปราบโกง” แสดงความเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหา เพื่อเรียกคืนศรัทธาจากประชาชนอีกครั้ง!

ตบท้ายด้วยความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองในการจัดทัพเตรียมสู้ศึกเลือกตั้ง โดยพรรคที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากในขณะนี้ หนีไม่พ้น พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เรียกได้ว่าพร้อมสุด เพราะถือเป็นพรรคแรกที่มีการจัดตั้งสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดได้ครบ 77 จังหวัด ซึ่งเป็นผลให้สามารถส่งผู้สมัครได้ครบทั้ง 77 จังหวัด 400 เขต ขณะที่พรรคการเมืองอื่นทั้ง พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ตลอดจนพรรคพลังประชารัฐ ยังตามไล่หลัง ซึ่งความพร้อมของพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็สอดรับกับท่าที “บิ๊กตู่” ที่ส่งสัญญาณชัดว่า พร้อมเลือกตั้ง 500%

ดังนั้น งานนี้ก็คงจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่าในการเปิดตัวนโยบายพรค รวมไทยสร้างชาติ ที่ปักหมุดไว้ในช่วงปลายเดือนนี้ จะมีนโยบายไม้เด็ดที่เป๊ะปังโดนใจประชาชน และเขย่าเกมเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน

ขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ ก็เจอเอฟเฟกต์จากการใช้งานคนหลายทีม ซึ่งทำให้ต่างทีมก็ต่างต้องการที่จะมีความโดดเด่นให้ตัวเองมากที่สุด อย่างกรณีของ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ก็โยนโจทย์เสนอแนวคิดปรับโครงสร้างลดราคาน้ำมัน แยกส่วนจากนโยบายพรรค จนดูแล้วขัดจริตของการเป็นพรรคการเมืองที่ควรจะต้องให้นโยบายตกผลึก ก่อนจะโยนโจทย์ออกมาสู่สาธารระ จนสุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นปัญหาภายในพรรคระลอกใหม่

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ยังไม่ได้ลบออร่าของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรค ซึ่งตอนนี้เรียกได้ว่าเป็น “ผู้ประสานสิบทิศ” โดยมี “ผู้กองธรรมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ ที่ผงาดบารมีกลับขึ้นมาช่วยเสริมทัพสู้ศึกเลือกตั้ง ในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่ภาคเหนือของพรรค โดยจะได้เห็นลีลาการเดินเกมสอดรับกับ ของ “บิ๊กป้อม-ผู้กองธรรมนัส” โดยที่ “บิ๊กป้อม” ยังคงท่องคาถาจับมือกับทุกขั้วก้าวข้ามความขัดแย้ง ขณะที่ ผู้กองธรรมนัส เดินเกมโยนหินถามทางจับมือพรรคเพื่อไทย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสถานการณ์พรรคพลังประชารัฐหลังจากนี้ ยังคงจะต้องจับตาดูกันต่อไป เพราะยังมีกระแสข่าวการเตรียมย้ายพรรคของกลุ่ม ส.ส.กันอีกระรอก!

ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ มีการพลิกเกมดึงกู้วิกฤติศรัทธาในพรรค โดยส่งเทียบเชิญ อดีต 3 หัวหน้าพรรค ไล่ตั้งแต่ นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และช่วยหาเสียงสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในพรรค โดยมีการเคาะชื่อ ชื่อ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพียงคนเดียว พร้อมกันนั้นยังมีการปล่อยเอ็มวีเพลงหาเสียง ที่มีภาพ นายชวน ตีกลองสะบัดชัย ขณะที่ นายจุรินทร์ ขี่ม้าขาว เรียกขวัญกำลังใจก่อนสู้ศึกเลือกตั้ง

และพรรคที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ พรรคก้าวไกล หลังจากเกิดเหตุการณ์ “สงครามน้ำลาย” ระหว่าง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กับ นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ในวันครบรอบ 3 ปีที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ซึ่งมีข่าวลือหนาหูว่าเหตุการณ์วิวาทะที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลพวงมาจากการจัดคนลง ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค แต่สุดท้ายก็สามารถเคลียร์ใจกันได้ โดยที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ทวีตข้อความระบุว่า ตนเอง และนายปิยบุตร พร้อมสนับสนุนพรรคก้าวไกล เพื่อส่ง นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ซึ่งก็ถือเป็นการหย่าศึกไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม บริบทการเมืองและเกมเลือกตั้งหลังจากนี้ ก็คงจะเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนจะต้องเริ่มจับตามองและพิจารณากันให้ถี่ถ้วน ว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคมีนโยบายอะไรมาขาย รวมทั้งพิจารณาว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งให้ถี่ถ้วน เพื่อให้ได้ตัวแทนที่ตรงกับความต้องการไปทำหน้าที่ในสภา ออกแบบประเทศให้ตอบโจทย์ได้อย่างแท้จริง.