เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 28 ก.พ. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ.1117/2565 ที่พนักงานอัยการและรักษาการเจ้าอาวาสวัดวชิรธรรมาราม เป็นโจทก์ฟ้อง นายอภิรัตน์ หรือ เนย ชยางกูล ณ อยุธยา อายุ 40 ปี อดีตคนสนิทสมเด็จพระวันรัต เป็นจำเลยฐาน ฉ้อโกง ปลอมแปลงเอกสารใช้และใช้เอกสารปลอม ทำให้วัดวชิรธรรม และวัดสาขา ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเสียหายและให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำนวน 80.1 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การปฏิเสธและจำเลยถูกขังมาตลอด

คดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า เดิมสมเด็จพระวันรัต เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดบวร และรักษาการเจ้าอาวาสวัดวชิรธรรมาราม อาพาธรักษาตัวที่โรงพยาบาลระหว่างปี 2564-2565 ทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้จัดส่งเงินจำนวน 78.5 ล้านบาท เข้าบัญชีวัดวชิรธรรม เพื่อใช้จ่ายในการก่อสร้างวัดวชิรธรรมาราม (โครงการสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) และโครงการอื่นๆ มีพระวันรัต เป็นผู้มีอำนาจเบิกถอนเงินเพียงผู้เดียว ในหลายบัญชี อาทิ ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางลำพู วัตถุประสงค์ฝากเงินเพื่อเอาดอกเบี้ย จนเงินเพิ่มเป็น 80.1 ล้านบาท

จำเลยเป็นศิษย์คนสนิท รู้ว่าเงินไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของพระวันรัตแต่เป็นของวัดวชิรธรรม ได้ออกอุบายหลอกพระวันรัตให้ลงลายมือชื่อเบิกถอนเงิน หลายครั้ง เพื่อไปเบิกถอนเงินจากธนาคาร แล้วนำไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่ธนาคาร เมื่อเจ้าหน้าที่ธนาคารโทรฯ มาสอบถามพระวันรัต ก็ไม่ได้รับสาย เพราะจำเลยให้ปิดเสียง ซึ่งจำเลยได้โอนเงินจำนวน 50 ล้านบาท เข้าบัญชีเงินฝากของตนเอง

จากนั้นจำเลยนำเงินที่หลอกลวงมาไปซื้อ รถยนต์ยี่ห้อเบนท์ลีย์ และรถหรูราคาแพง กับจองและสั่งซื้อเลขป้ายทะเบียนสวย กระเป๋าราคาแพง อัญมณี ชำระหนี้บัตรเครดิต รวมทั้งหมด 324 รายการ ต่อมาพระวันรัตได้ทราบ เกี่ยวการโอนเงินวัดเข้าบัญชีจำเลย จึงสอบถามจำเลยซึ่งจำเลยตอบว่าโอนเงินผิด พระวันรัตจึงตำหนิจำเลยแล้วบอกให้โอนเงินกลับคืนมาให้เรียบร้อย แต่จำเลยไม่โอน ทั้งนี้จำเลยมีการกระทำในลักษณะเดียวกันนี้ต่อวัดบวร วัดรัตนวราราม ในหลายบัญชี-จึงขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนักและให้คืนเงินจำนวน 80 ล้านบาทเศษ

โดยวันนี้ศาลได้เบิกตัวนายอภิรัตน์ จำเลยมาจากเรือนจำ และมีญาติโยมลูกศิษย์วัดมาร่วมฟังคำพิพากษา

ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยมีเจตนาฉ้อโกงหลอกลวงสมเด็จพระวันรัต โดยปลอมและใช้ใบถอนเงินปลอม โดยเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2564 จำเลยได้ถอนเงินจำนวน 50 ล้านบาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ธนาคารหลงเชื่อว่าใบถอนเงินดังกล่าวเป็นเอกสารฉบับจริง หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 6 ม.ค.2565 จำเลยยังได้โอนเงินจำนวน 30 ล้านบาทเศษเข้าบัญชีส่วนตัวของจำเลย โดยฝ่าฝืนไม่ได้รับความยินยอมจากสมเด็จพระวันรัต ดังนั้นจากพฤติกรรมเห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาหลอกลวงเพื่อผลประโยชน์ของตนเองโดยทุจริตมาตั้งแต่ต้นและปกปิดข้อมูลข้อเท็จจริง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม ซึ่งเป็นบทลงโทษหนักที่สุด

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อาญามาตรา 265 และ 268 วรรคแรก ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม จำนวน 2 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมโทษจำคุก 10 ปี และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 80 ล้านบาทเศษ แก่วัดวชิรธรรมด้วย.