โลกออนไลน์แห่แชร์ภาพสุดสะเทือนใจ หลังเว็บไซต์มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า (Wildlife Friends Foundation Thailand หรือ WFFT) ได้เปิดเผยรายงานภาพเปรียบเทียบของช้างไทย ที่ถูกใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดนใช้งานเป็นพาหนะให้นักท่องเที่ยวขี่หลัง จนทำให้ร่างกายของช้างเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผิดรูป

พลายหลิน เป็นช้างไทยที่ถูกใช้งานให้นักท่องเที่ยวขี่มานานถึง 25 ปี แม้ว่าในแต่ละครั้ง จะมีข้อจำกัดให้บรรทุกนักท่องเที่ยวได้ไม่เกิน 6 คน แต่ผลจากการถูกใช้งานอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานเช่นนี้ ทำให้มันอยู่ในภาวะ “กระดูกสันหลังผิดรูป” ก่อนที่จะได้รับการช่วยเหลือมาอยู่ที่มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า 

ภาพของ พลายหลิน แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า กระดูกสันหลังของมันยุบลงและจมลงไป ซึ่งโดยปกติแล้ว กระดูกสันหลังของช้างจะโค้งมนและยกขึ้น นอกจากนี้พลายหลิน ยังมีรอยแผลเป็นที่เกิดจากการถูกกดทับซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ด้วยเหตุเพราะภาระความหนักอึ้งที่มันต้องแบกรับตลอดช่วงชีวิตการทำงานที่ผ่านมา 

เมื่อลองเปรียบเทียบกับภาพของ ทุ่งเงิน ช้างตัวอื่นที่ได้รับการช่วยเหลือมาอยู่ที่มูลนิธิ จะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน ซึ่งความผิดปกติทางร่างกายเหล่านี้ สามารถพบได้ทั่วไปในช้างที่ถูกใช้งานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย 

บุญช่วย เป็นช้างไทยอีกตัวที่ทางมูลนิธิช่วยเหลือมา จากภาพจะเห็นว่า กระดูกสันหลังของมันก็ได้รับความเสียหายเช่นเดียวกัน ภายหลังจากโดนใช้งานขี่หลังมาเป็นสิบ ๆ ปี ต้องแบกรับน้ำหนักทั้งจากควาญช้าง และกลุ่มนักท่องเที่ยว รวมทั้งม้านั่งหนัก ๆ กลายเป็นแรงกดทับอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแค่เนื้อเยื่อและกระดูกเสื่อม แต่กระดูกสันหลังยังได้รับความเสียหายอย่างถาวร

“แม้จะรู้ดีว่า ช้างจะเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่และมีพละกำลังแข็งแกร่ง แต่โดยธรรมชาติ หลังของพวกมันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รับน้ำหนัก เนื่องจากกระดูกสันหลังของพวกมันยืดสูงขึ้น การกดทับกระดูกสันหลังอย่างต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยว อาจส่งผลให้ร่างกายของพวกมันเสียหายอย่างถาวร ดังที่พลายหลินได้ประสบ” ทอม เทย์เลอร์ ผู้อำนวยการโครงการของมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า กล่าว..   

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า (Wildlife Friends Foundation Thailand หรือ WFFT)